วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก สสจ.เชียงใหม่ เปิดสถิติผู้ป่วยและตายก่อนวันอันควร เป็นหญิงมากกว่าชาย

Social Share

29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันอัมพาตโลก สสจ.เชียงใหม่ เปิดสถิติผู้ป่วยและตายก่อนวันอันควร เป็นหญิงมากกว่าชาย ทั่วโลกมีผู้ป่วย 80 ล้านคน และพิการจากโรคหลอดเลือดสมองกว่า 50 ล้านคน

29 ต.ค. 26 : นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization : WSO) กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันอัมพาตโลก” เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 80 ล้านคน และพิการจากโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 50 ล้านคน ประกอบกับรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชาชนไทย พ.ศ. 2557 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิต อันดับ 1 ของประชากรทั้งในเพศชายและเพศหญิง (ชาย 30,402 ราย, หญิง 31,044 ราย) และเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควร เป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 1 ในเพศหญิง สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ พบอัตราป่วยตายโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

โดยในปี พ.ศ.2560 – 2562 พบอัตราป่วยตายร้อยละ 5.89 , 6.33 และ 7.10 ตามลำดับ จากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยที่กำลังคุกคามประชากรทั่วโลก รวมถึงประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นโรคที่สามารถ เกิดได้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย ผู้ที่ป่วยจากโรคนี้จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ผู้ป่วยบางรายเกิดความพิการ โดยจะเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก มาจากอาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองตายในที่สุด ทำให้เกิดอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด ปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ออกกำลังกายไม่เพียงพอ บริโภคอาหารไม่เหมาะสม ไขมันในเลือดสูง ดัชนีมวลกายและรอบเอวเกิน สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และรวมถึงปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. หยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ควรดูแลรักษา สุขภาพตามที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ รับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษา
  4. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ระหว่าง 18.5 – 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร คุมรอบเอวในเพศชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร และเพศหญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร
  5. ดำเนินวิถีชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง และควรออกกำลังกายอย่างน้อยที่สุด 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์
  6. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย มีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม
  7. รับประทานเมนูอาหารสุขภาพ เช่น รับประทานผักสดมื้อละ 2 ฝ่ามือพูนหรือผักสุกมื้อละ 1 ฝ่ามือพูน เป็นต้น
  8. ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง