ควิกบิท จับมือ ชวนชมซอฟต์แวร์เฮาส์ เปิดตัว “คลิกเดลิเวอรี่” แพลตฟอร์มคนไทยเพื่อคนท้องถิ่นในเชียงใหม่

Social Share

ควิกบิท จับมือ ชวนชมซอฟต์แวร์เฮาส์ เปิดตัว “คลิกเดลิเวอรี่” แพลตฟอร์มคนไทยเพื่อคนท้องถิ่นในเชียงใหม่

วันที่ 10 ต.ค. 65 นางพนิดา วานิชรัตน์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดตัว “คลิกเดลิเวอรี่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 1” โดยมี นางจินตนา เตชะกัน ประธานก่อตั้ง บริษัท คลิกบิท จำกัด, นายกิตติทัศน์ กิตตินิยมศักดิ์ ผู้ร่วมพันธมิตรธุรกิจอำเภอเมืองเชียงใหม่ 1 พร้อมผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมพิธีเปิดตัวในครั้งนี้ ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท เชียงใหม่

นางพนิดา วานิชรัตน์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานพาณิชย์เชียงใหม่ เป็นตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่ดูแล กำกับ และสนับสนุนเกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ มีภารกิจทั้งในและต่างประเทศ ภารกิจในประเทศ ได้แก่ การดูแลราคาสินค้าเกษตร ดูแลผู้บริโภคภายใต้กรอบของกฎหมาย มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ทั้งด้านการค้าและบริการ และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ในส่วนของการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ สำนักงานพาณิชย์มีฝ่ายรับจดทะเบียนร้านค้า จดทะเบียนบริษัทจำกัด สมาคมการค้าต่างๆ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อเสริมสมรรถนะให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับที่สูงขึ้น ในวันนี้ดีใจที่ได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ นั่นหมายถึง พื้นที่นั้นๆ มีศักยภาพและโอกาสในทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่แทบจะขาดไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เพราะทุกกิจกรรมต่างๆ บนโทรศัพท์มือถื อแทบจะทำได้ทุกเรื่องแล้ว ทั้งเรื่องธุรกรรมทางการเงิน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ใช้เป็นกล้องถ่ายรูป ใช้สื่อสาร ส่งเอกสาร ส่งภาพ ส่งคลิปวีดีโอ ผ่านระบบออนไลน์ เฟสบุ๊ค สื่อโซเชียลต่างๆ ได้ทันที และทันสถานการณ์ และยังเป็นอีกหลายๆ อย่าง การที่บริษัท คลิกบิท ได้จัดทำแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชั่นให้บริการเชื่อมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้เจอกันบนโลกออนไลน์ และสามารถสั่งซื้ออาหารหรือสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ จึงเป็นการตอบสนองวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เป็นการอำนวยความสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ผู้บริโภค รวมถึงประหยัดเวลา และลดการจราจรที่แออัดในเมืองใหญ่อย่างเช่นเชียงใหม่อีกด้วย

นางจินตนา เตชะกัน ประธานก่อตั้ง บริษัท คลิกบิท จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ แห่งนี้เป็นแอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อคนท้องถิ่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 สาขา สาขาแรกอยู่ในอำเภอสันป่าตอง ในวันนี้เป็นการเปิดสาขาที่สอง ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้ร่วมกับ ชวนชมซอฟต์แวร์เฮาส์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ทำการเชื่อมโยงธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร และผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชน ในการเพิ่มช่องทางการตลาด ถึงมือผู้บริโภค โดยจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ให้เจอกันบนโลกออนไลน์ เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านค้าได้มากขึ้น ส่งผลต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนคนท้องถิ่น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนได้อีกทางหนึ่ง เป้าหมายของ “คลิกเดลิเวอรี่” มีนโยบายขยายสาขาโดยการหาพันธมิตร หรือแฟรนไซส์ประจำพื้นที่ ประจำอำเภอ หรือ 1 อำเภอ 1 แฟรนไซส์ เพื่อให้พื้นที่อำเภอนั้นๆ ได้ดูแล สนับสนุน ส่งเสริมธุรกิจให้แก่ร้านค้า ไรเดอร์ และผู้ใช้บริการในพื้นที่บ้านเกิดตัวเองได้อย่างใกล้ชิด และเกิดการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ตนเอง

ปัจจุบันได้มีการขยายไปแล้ว 8 สาขา ภายใน 4 เดือน ได้แก่ สาขาอำเภอสันป่าตอง (เชียงใหม่) , สาขาอำเภอเมืองเชียงราย (ร่องขุ่น และบ้านดู่) , สาขาเวียงป่าเป้า (เชียงราย) , สาขาอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ , สาขาอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, สาขาอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยถึงสิ้นปี 65 นี้ ก็คาดว่าน่าจะมีทั้งหมด 12 สาขา และในปี 66 ตั้งเป้าจะเปิดบริการอีก 36 สาขา

จุดเด่นของ “คลิกเดลิเวอรี่” คือ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการนอกจากจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แล้ว ยังไม่หักค่าบริการ หรือไม่หัก GP จากร้านค้าอีกด้วย ร้านค้าได้เงินค่าอาหารในอัตราเดียวกับที่ขายหน้าร้าน และได้รับเงินสดทันที ไม่ต้องรอให้ถึงรอบการจ่ายเงิน เพราะเรามีความเข้าใจว่าทุกร้านต้องการเงินสดไปหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบทุกวัน ส่วนของผู้ใช้บริการ หรือผู้บริโภค ก็จะได้รับความสะดวกที่จะมีอาหารมาส่งถึงหน้าบ้านและยังสามารถให้ผู้รับ-ส่งอาหาร หรือไรเดอร์ ไปจ่ายตลาดแทนได้อีกด้วย ถือได้ว่าสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา “ครบ จบในคลิกเดียว” เพียงแต่ท่านมีโทรศัพท์มือถือ แบบสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และโหลดแอปพลิเคชั่น คลิกบิท หรือสแกน QR Code เพื่อโหลดแอปพลิเคชั่นได้ทั้งระบบแอนดรอยด์ และ iOS “ธุรกิจคนไทย เพื่อคนท้องถิ่น ดูแล ใส่ใจ ใกล้ชิด”