ช่วงเช้า (15 ส.ค. 61) นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ กสศ. ที่สนับสนุนให้ภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาประสบความสำเร็จ คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกภาคประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบวิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามบริบทของพื้นที่ตนเอง เช่นเดียวกับการเติบโตของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา
จนนำมาสู่ การจัดตั้งกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือกองทุน 10 บาท ระดมความร่วมมือและงบประมาณจากคนเชียงใหม่เพื่อสนับสนุนเด็กเยาวชนยากจนและด้อยโอกาสให้มีโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้สำเร็จโดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ กสศ.ยังเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น ที่ www.eef.or.th จึงขอเชิญชวนประชาชน หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน”
ดร.ประสาร กล่าวว่า ภายหลังขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น สำนักงาน กสศ.จะนำทุกประเด็นความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ต่อไป โดยกสศ.น่าจะมีผลงานใน 3 เรื่องสำคัญ คือ
1. ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษจำนวนประมาณ 620,000 คนทั่วประเทศ ด้วยการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และมาตรการดูแลต่อเนื่องโดยครูและสถานศึกษา
2. X-ray พื้นที่ 15 จังหวัด ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-18 ปี จำนวน 100,000 คนแรก ส่งต่อสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ที่สอดคล้องกับความถนัดและศักยภาพของเด็กเป็นรายคน รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของตลอดแรงงานในแต่ละพื้นที่ ในอนาคตจะสามารถเป็นต้นแบบการทำงานให้ครบทั้ง 77 จังหวัดได้ในปีงบประมาณต่อไป
3. สนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพสำหรับนักเรียนยากจนระดับ ม.3 ที่มีศักยภาพสูง 12,000 ทุน โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีงานทำได้ทันที ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเยาวชนและครอบครัวออกจากกับดักความยากจน ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility)
นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีเด็กยากจนราว 62,622 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กยากจนพิเศษจำนวน 26,098 คน ที่ผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,281 บาทต่อคน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 42.7 บาทเท่านั้น นักเรียนเหล่านี้ต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนโดยเร่งด่วน ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา และในการดำเนินงานของกองทุน 10 บาท ในปีแรกได้รับการสนับสนุนจากคนเชียงใหม่บริจาคคนละ 10 บาท ภายในระยะเวลา 1 เดือน ระดมทุนได้จำนวน 2.7 ล้านบาท
สำหรับทุนดังกล่าว สามารถขยายผลช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ด้อยโอกาส จำนวน 230 คน แบ่งการสนับสนุนหลายด้าน เช่น ทุนการศึกษาสายอาชีพ ทุนการศึกษาสายสามัญ ทุนสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาที่ประกอบอาชีพเพื่อมีรายได้ระหว่างเรียน โดยการสนับสนุนนั้น มีตั้งแต่ระดับ 5,000-30,000 บาท ทั้งนี้ไม่ได้พิจารณาจากผลการเรียนเป็นตัวหลัก แต่เน้นเรื่องพฤติกรรม ความอดทน รับผิดชอบ การมีความใฝ่ฝัน และมีแรงบันดาลใจไม่ย่อท้อ โดยมีกระบวนการกลั่นกรอง คัดเลือกที่รอบคอบ มีการลงพื้นที่จริงเพื่อตรวจสอบ
ครูพิมพ์รดา ส่งชื่น กล่าวว่า จากการที่โรงเรียนมีระบบเยี่ยมบ้านและการใช้แอปพลิเคชัน “ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ภายใต้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : ISEE) ทำให้ครูทราบข้อมูลว่านักเรียนกว่าร้อยละ 90 มาจากครอบครัวหย่าร้าง อยู่ในชุมชนที่ห่างไกล สภาพพื้นที่เป็นดอยมีความยากลำบากในการเดินทางมายังโรงเรียน ความยากจนทำให้เด็กๆ ต้องไปช่วยครอบครัวทำไร่ทำสวนเพื่อหารายได้หรือใช้แรงงานรับจ้าง จึงต้องขาดเรียนอยู่เป็นประจำ และไม่มีเวลาที่จะทบทวนบทเรียนเพราะต้องทำงาน ผลการเรียนจึงไม่ค่อยดีนัก
การที่ครูได้ไปเยี่ยมบ้านจะทำให้รู้ว่า เราจะส่งเสริมแต่ด้านวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเน้นวิชาการก็จะมีเด็กอีกหลายคนต้องถูกทอดทิ้ง ดังนั้นครูที่นี่ก็จะช่วยเหลือเด็กทุกคนโดยมองข้ามคำว่าเก่ง แต่จะดูว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องอะไร ที่สำคัญก็คือการส่งเสริมเรื่องทักษะอาชีพ เด็กต้องมีทักษะการมีชีวิตสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ และต้องมีทักษะในการทำงาน สองสิ่งนี้คือสิ่งที่ชุมชนและโรงเรียนมุ่งหวัง เพื่อให้เด็กๆ ได้ค้นหาหรือค้นพบคำตอบตั้งแต่เรียน จากนั้นสนับสนุนการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ให้กับนักเรียน และมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตในอนาคตทำให้หันมาให้ความสำคัญกับการเรียนมากขึ้น
เรื่องมาใหม่
- ล้างทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด อบต.บ้านกาศ จัดรถน้ำพร้อมกำลังคนช่วยราษฏรบ้านพะมอลอ
- นายอำเภอแม่สะเรียง ทหารพราน36 กู้ภัย อบต.บ้านกาศ เข้าช่วยเหลือราษฏรบ้านพะมอลอ
- รอบแรก เตือน เด็กแว้นท่อดัง สภ.แม่สะเรียงกวาดล้างยึดท่อ เผย กระทำผิดซ้ำเปรียบเทียบปรับดำเนินคดี
- เรือนจำแม่ฮ่องสอน เปิดร้านกาแฟ หับเผย by คนดี คอฟฟี่ และ ร้านคนดี คาร์แคร์ ส่งเสริมสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังภายหลังพ้นโทษ
- บริษัทไทยไปป์ภาคเหนือ และบริษัทภาคใต้อุตสาหกรรม ท่อน้ำไทย จำกัด มอบรถยนต์ใช้ในงานบริการด้านสาธารณสุขโรงพยาบาลแม่สะเรียง