รมช.กระทรวงศึกษา เปิดงานขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เน้นปี 62 ครูและบุคลากรต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ส่วนด้านอุทกภัย “ปาบึก” ยืนยันควบคุม หลังน้ำลดเตรียมเข้าเยียวยาและเปิดเรียนได้ทันทีอาทิตย์หน้า หากไม่พร้อมให้หาสถานที่สำรองเปิดสอนไม่ให้กระทบต่อการเรียนของนักเรียน
5 ม.ค. 62 : พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “EDUdigital 2019” การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมี นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำคณะผู้บริหาร ครู ในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัด จำนวน 350 คน มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาคราชการและเอกชนเป็นวิทยากรและร่วมจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 มกราคม2562 ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ตามนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ได้เร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมทั้งให้ความสำคัญของครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป ที่มีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งบุคลากรจำนวนมากเหล่านี้ ควรได้รับโอกาส ในการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อย่างเสมอภาคและทั่วถึง ที่สำคัญต้องสร้างให้เกิดความตระหนักในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอินเทอร์เน็ต และรวมไปถึงให้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ Social Media อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในยุคศตวรรษที่ 21
ในการนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนองนโยบายดังกล่าวเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันและให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงดำเนินการจัดประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ชื่องาน “EDUdigital 2019” ภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเปิดเวทีการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดแสดงนิทรรศการฯ แสดงผลงานที่สะท้อนให้เห็นกระบวนความคิดใหม่ที่มีการบูรณาการเทคโนโลยีไปสู่กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีไปบูรณาการจัดการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการ เพราะการจะเป็นประเทศไทย 4.0 ก็ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และทำในส่วนนี้ควบคู่กันไป และทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็ดูแลการศึกษาในระดับภูมิภาค วันนี้ได้เดินทางมาภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ นำนวัตกรรมนำร่อง และทำในจังหวัดอื่นคู่ขนานไปด้วย วันนี้ก็มีการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งเป็นความสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันยุคสมัยของศตวรรษที่ 21 ก็ได้เชิญผู้บริหาร ครู อาจารย์มาประชุมทางวิชาการ
โดยมีภาคเอกชน และทาง สพฐ.นำเอาวิทยากร มาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการศึกษาในอนาคต ในปี 2562 เชื่อมั่นว่าจะมีความพร้อมสมบูรณ์มากกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เดินทางด้วยความยากลำบาก ทางรัฐบาลก็มีโครงการเน็ตประชารัฐนำสัญญาณกระจายไปอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความยากลำบากทางการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมกัน มีการใช้การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม จำนวน 15,369 โรงเรียน แม้ว่าบางจุดจะมีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้า เรื่องสัญญาณ ก็มีการปรับปรุงแก้ไขได้หมดแล้ว มีการปรับสัญญาณให้แรงขึ้น การใช้โซล่าเซลล์มาเสริมเพื่อแก้ปัญหาด้านไฟฟ้า และก็ต้องใช้เทคโนโลยีมาเสริมให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น
สถานการณ์ด้านภัยพิบัติ “ปาบึก” ในภาคใต้ ตอนนี้ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ แม้ว่าทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะแจ้งมา ก็มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง มีสถานศึกษาบางแห่งถูกน้ำท่วมโรงเรียน แต่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ก็ได้มอบหมายให้ทางปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งศูนย์เฝ้าระวังหลังจากที่ได้มีการประชุม ครม. ก็มีการดำเนินการทันที ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้แจ้งเตือนไปยังสถานศึกษาทุกเขต ทุกสถานศึกษา ให้มีการเตรียมความพร้อม ก็มีเหตุการณ์ลมแรง ต้นไม้ล้มทับอาคารบ้านเรือน ก็มีเสียหายบ้าง แต่ไม่มีอะไรรุนแรง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียน ไม่มีใครได้รับอันตรายใดๆ
หากสถานการณ์คลี่คลายก็จะเข้าไปดำเนินการฟื้นฟู และทางผู้บริหารก็จะเข้าไปเยี่ยมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนในพื้นที่ คาดว่าวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2562 ก็สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ แต่หากสถานศึกษาไหนที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ ยังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ตรงจุดนี้ก็มีมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยการหาสถานที่เตรียมไว้สำหรับการเรียนการสอน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการศึกษาของนักเรียน
เรื่องมาใหม่
- ชลประทานเชียงใหม่ ยืนยันฝายดอยน้อยที่มีเศษขยะจำนวนมากไม่ส่งผลทำให้น้ำท่วมเชียงใหม่ เร่งกำจัดทุกวันไม่มีหยุด
- เอไอเอสอาสา รวมใจบรรเทาอุทกภัย เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อผู้ประสบภัย จังหวัดเชียงใหม่
- รมช.มหาดไทยและรมช.กลาโหม ลงพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เร่งช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว ช้างอีกจำนวน 9 เชือก
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย
- มทร.ล้านนา ตาก จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู