วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

องคมนตรี ประกอบพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเถราภิเษกเพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

Social Share

พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประกอบพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเถราภิเษกเพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติขององค์การยูเนสโก

วันที่ 16 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่ ข่วงพระเจ้าล้านนา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ (ปากทางเข้าห้วยตึงเฒ่า) พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประกอบพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเถราภิเษกเพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ยูเนสโก) โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ประกอบพิธีจุดเทียนชัยพิธีพุทธาภิเษกองค์ พระพุทธรูปปางรำพึง ขนาดความสูง 170 เซนติเมตร จำนวน 4 องค์ / เถราภิเษกองค์รูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว จำนวน 6 องค์ และขนาด 9 นิ้ว จำนวน 50 องค์ พร้อมชุดประกาศเกียรติคุณเพื่อเตรียมเสนอให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ขององค์การยูเนสโก ในวาระครบ 150 ปีชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย (2571) โดยมี พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้ที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้าร่วม

จากนั้นพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประกอบพิธีมอบองค์รูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมชุดประกอบการเผยแพร่ประกาศเกียรติคุณพร้อมโล่ แก่ กรรมการฝ่ายฆราวาส จำนวน 18 ราย เพื่อประสานงานในการเผยแพร่ประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยฯทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเถราภิเษกเพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกขององค์การยูเนสโกในครั้งนี้เกิดขึ้นจากมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา ได้ดำเนินกิจกรรมหนุนเสริม ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเตรียมเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ทางด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพต่อองค์การยูเนสโก ในสาขาวัฒนธรรมที่สร้างความสงบสุขอันนำไปสู่สันติภาพร่วมกับ โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคเหนือ (ตอนบน) โดยมุ่งหวังที่จักสืบสานพระพุทธศาสนา รักษาแผ่นดินที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเป็นหลักชัยของแผ่นดิน

ทั้งนี้แบบเสนอคำขอเพื่อเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ANNEX II ) จะต้องมีการเผยแพร่จริยวัตร ปฏิปทา ดังนั้นมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา ดำเนินการหล่อองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว 9 นิ้ว 5 นิ้วและเหรียญบูชา พร้อมประกอบพิธีเถราภิเษกและปลุกเสกครั้งแรก ในวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมถึงให้มีการประสานงานจัดคัดลอก ขั้นตอนบูชาพระรัตนตรัยตามวิถีพุทธ และพระคาถาบารมี 30 ทัศ พร้อมคำบรรยายใต้ภาพโดยทำการแปลเป็นภาษาล้านนา ภาษาเมียนมาร์ ( ปะโอ ) ภาษาไทใหญ่ ( ไต ) ภาษากะเหรี่ยง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และให้จัดทำเป็นบันทึกภาพและเสียงการสวดเป็นตัวอย่างการบูชาคุณพระรัตนตรัย และคาถาบารมี 30 ทัศ ให้เป็นภาษาต่างๆ โดย พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเสนาบดี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร รองเจ้าคณะภาค 7 เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลีแปลด้วยภาษาจีน พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนนายก เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลี สาธยายพระคาถาด้วยภาษาไทยพร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาล้านนาและสวดหมู่ด้วยภาษาบาลีพร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาอังกฤษ , พระครูประภัศร์ธรรมรังษี (ครูบาจันทรังษี) เจ้าอาวาสวัดกู่เต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลี พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาไทใหญ่ (ไต) , พระครูปลัดวินัย อภินนฺโท เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลี พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษากะเหรี่ยง , พระสมุห์อานนท์ (ปู่อ้าย) เจ้าอาวาสวัดหนองคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์สวดด้วย ภาษาบาลี พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาเมียนมาร์ (ปะโอ) , โดยมี พระ Narandawamsa หรือ พระหน่อคำ วัดสุวรรณาราม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นผู้ร่วมดำเนินการถ่ายทำร่วมกับ ดร.กิตติพัฒน์ สุวรรณชิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดบันทึกคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาต่างๆ ( ที่แปล ) เพื่อนำไปเผยแพร่และประดิษฐานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการประสานงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จัดทำกรอบแนวทางการนำไปประดิษฐานเพื่อการติดตามและเก็บข้อมูลทั้ง 10 จังหวัด ( ภาคเหนือ) ระดับประเทศ และการเผยแพร่เกียรติคุณไปยังต่างประเทศอันจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งให้คณะทำงานฝ่ายวิชาการได้นำไป ประกอบการยกร่างข้อเสนอด้วยกระบวนการวิจัยที่สอดคล้องกับแบบเสนอ (ANNEX II) ที่องค์การยูเนสโกกำหนดต่อไป