วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ภาคีด้านการศึกษาเชียงใหม่ ร่วมลงนามพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน (พหุภาษา)

Social Share

เมื่อวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่/ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2,  เขต 3 , เขต 4, เขต 5,  เขต 6 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 และชมรมทวิ/พหุภาษาจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องสวรรคโลก โรงแรมคุ้มภูคำ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลทรุกันดาร มีโรงเรียนในชมรมทวิ/พหุภาษาจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 62 แห่ง ที่ได้จัดทำโครงการอยู่นี้

แนวทางการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ สาขาสังคม เมื่อปี พ.ศ. 2560 อันเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จากการดำเนินงานมากว่า 15 ปี (ตั้งแต่ปี 2550) เกิดผลเชิงประจักษ์ว่า สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กกลุ่มชาติได้จริง

มีการเสวนาถึง “ข้อเสนอปรับปรุงหรือแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่น่าจะทำได้เกี่ยวกับงานบริหารบุคคล เพื่อให้เอื้อต่อนวัตกรรมทวิ/พหุภาษา” ตามข้อเสนอที่ได้จัดทำขึ้น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564  เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการจัดสรรบุคคลากรทางการศึกษาและผู้บริหารที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ให้มีรอยต่อหรือช่องว่างลดลง ในนามของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมได้ทำข้อเสนอต่อศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ และ สำนักบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ.ไว้

รายละเอียดของข้อเสนอให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติ เกี่ยวกับงานบริหารบุคคล เพื่อให้เอื้อต่อนวัตกรรมทวิ/พหุภาษา ดังนี้

  1. การจัดสรรอัตรากำลังครู และการบรรจุแต่งตั้ง
  • เกณฑ์อัตรากำลังครูในโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมฯ ให้เพิ่มครูประจำการที่เป็นครูท้องถิ่นที่รู้ภาษาเด็ก
  • พิจารณาจัดสรรอัตราจ้างครูท้องถิ่นเพิ่มในแต่ละห้องเรียน
  • จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปที่มีลักษณะเป็นก้อน (Block Grant) เพื่อให้โรงเรียนนำไปเป็นกองทุนจ้างครท้องถิ่น
  • มอบอำนาจให้โรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมฯ สามารถกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมในการสรรหาครูประจำการที่ จะมาบรรจุใหม่ ครูอัตราจ้าง และการแต่งตั้งโยกย้ายครู
  1. การพัฒนาครูประจำการ และการบรรจุแต่งตั้งครูใหม่
  • จัดตั้งงบประมาณเพื่อการอบรมและพัฒนาครูประจำการ ครูบรรจุใหม่ และครูท้องถิ่น
  • กำหนดคุณสมบัติให้ครูบรรจุใหม่ในโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรรมฯ ต้องมีหน่วยกิตการเรียนแบบทวิ/พหุภาษาฯ ในมหาวิทยาลัย หรืออย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข ให้มีการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบทวิ/พหุภาษาฯ ก่อนการบรรจุหรือก่อนทำการสอน
  1. วิทยฐานะ ค่าตอบแทนและการเลื่อนเงินเดือนครู

จัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประเมินวิทยฐานะ ค่าตอบแทนและเงินเดือนครูให้เอื้อต่อการทำงานที่ยากลำบาก โดยมีการคำนึงถึงปัจจัยตัวป้อน (Input) ที่เป็นเด็กด้อยโอกาสซึ่งใช้ภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากเด็กปกติ มีเกณฑ์การประเมินผลงานที่คำนึงถึงการป้องกันและช่วยเหลือเด็กให้สามารถคงอยู่ในระบบโรงเรียนได้ทุกคน มากกว่าการแข่งขันที่มีเด็กเพื่อความเป็นเลิศเพียงไม่กี่คน

ซึ่งการเสวนาได้ติดตามความคืบหน้าของข้อเสนอ และรับฟังแนวทางความช่วยเหลือที่น่าจะเป็นไปได้จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยมีผู้แลกเปลี่ยนหลายท่านดังนี้ คือ

  1. นายสมเกียรติ พึ่งคุณไตรรัตน์ ผู้อำนวยการแผนอัตรากำลัง สำนักงานพัฒนาระบบงานบุคคลและนิติกร สพฐ.
  2. นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่
  3. นายพิศิษฐ์พงษ์ ไชยแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบลาน และประธานชมรมทวิพหุ/ภาษา จังหวัดเชียงใหม่
  4. ดร.พิชญุตม์ กฤตย์รัตนะโชติ ประธานมูลนิธิฟ้าหลังฝนและที่ปรึกษาคุณหญิงกัลยา โสภณพานิชรมช.กระทรวงศึกษาธิการ
  5. นายอนุกูล ศรีสมบัติผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 3
  6. นายพัฒนพงศ์ พวงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่
    เขต 5

สรุปข้อเสนอจากเวทีเบื้องต้นนี้ คือ

  1. การใช้ช่องทางของ ว 16 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ
  2. ใช้ช่องทางของพรบ.พื้นที่นวัตกรรม มาตรา 31 ให้คณะกรรมการนโยบายสามารถเสนอต่อกคส. เพื่อเสนอแก้ไขกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ อื่นใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลอื่นใดในเรื่องของการสรรหา การคัดเลือก การบรรจุ การย้าย วิทยฐานะ ให้สามารถเสนอเพื่อการแก้ไขระเบียบกฎดังกล่าว และมาตรา 32 สามารถจัดตั้ง อกคส. พื้นที่นวัตกรรมขึ้น แต่ทั้ง 2 กฎนี้จะต้องให้กคส. เห็นชอบและกำหนดรายละเอียด
  3. เสนอแนะให้มีโครงการเฉพาะครูกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่ แก้ปัญหาการโยกย้ายนอกพื้นที่ คล้ายๆโครงการ ครูคุรุทายาท หรือ เพชรในตม
  4. จัดตั้งกองทุนการศึกษาครูกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นคูปองครู ให้กำลังใจในการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษเพื่อเสนอต่อก.ค.ส. ในกรณีพิเศษ กองทุนการศึกษา

และข้อเสนอแนะอื่น ๆ ทั้งนี้กลุ่มโรงเรียนในชมรมทวิ/พหุภาษาจังหวัดเชียงใหม่ยังต้องติดตามและขับเคลื่อนงานต่อไป

“ทวิ/พหุภาษา” โอกาสทางการเรียนรู้ โดยคนของชุมชน เพื่ออนาคตของชุมชน