วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

ครบรอบ 32 ปี ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพิ่มขีดความสามารถและคุณภาพการให้บริการ พร้อมรับมือไวรัส COVID-19 ที่ทำให้ผู้โดยสารลดลงเกือบร้อยละ 40

Social Share

ครบรอบ 32 ปี ท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมเร่งดำเนินโครงการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถและคุณภาพการให้บริการ พร้อมรับมือการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดลงเกือบร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

28 ก.พ. 63 : เรืออากาศโท ธนันท์รัฐ ประเสริฐศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทชม.ทอท.) กล่าวในโอกาสครบรอบ 32 ปี การดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 6 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท.ได้รับโอนกิจการ จากกรมการบินพาณิชย์  มาอยู่ในความดูแล ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 และแปรสภาพเป็น บริษัท  ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 โดยได้มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการในทุกๆ ด้าน ภายใต้ค่านิยมหลัก 5 ประการ ได้แก่ ให้ใจ มั่นใจ ร่วมใจ เปิดใจ และภูมิใจ

ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร  8 ล้านคนต่อปี แต่จากจำนวนผู้โดยสารในปี 2561 ที่สูงกว่า 11 ล้านคน ส่งผลให้เกิดความแออัดและสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอในบางช่วงเวลา ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ขยายพื้นที่  การให้บริการ และบริหารจัดการเส้นทางเดินของผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็ว  มากที่สุด ภายใต้คุณภาพการให้บริการในระดับสากลและมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มาโดยตลอด และในปี 2563 มีงานบรรเทาความแออัดและงานพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถและคุณภาพการให้บริการ ที่สำคัญดังนี้

  1. งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์สัมปทาน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งจะสามารถรองรับการจอดรถยนต์ได้ 1,300 คัน
  2. งานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งจะประกอบด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 ชั้น และพื้นที่จอดรถยนต์ 400 คัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้าง ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้าแอทยู พอร์ท จำกัด ระยะเวลาก่อสร้าง 14 เดือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2563
  3. โครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสาร เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของจุดตรวจค้น  ผู้โดยสารขาออกและจุดตรวจหนังสือเดินทาง อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยจะเพิ่มพื้นที่หน้าจุดตรวจค้น  สำหรับผู้โดยสารและพนักงาน เพิ่มพื้นที่และจำนวนเคาน์เตอร์จุดตรวจหนังสือเดินทาง และแยกช่องทางเข้าออกเฉพาะ  ของเจ้าหน้าที่เพื่อลดการปะปนของเจ้าหน้าที่กับผู้โดยสารในการเข้าออกพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน  การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
  4. งานปรับปรุงระบบปรับอากาศอาคารผู้โดยสารภายในประเทศท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563
  5. การก่อสร้างพื้นที่ห้องคัดกรองผู้โดยสาร เพื่อคัดกรองและกักกันผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศ          ต้นทางที่มีการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ที่มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคน ซึ่งเดิมจะเริ่มดำเนินการในปี 2563-2565 นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เพิ่มเติมในบางประเด็น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการตามแผนในปี 2565

สำหรับผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในปี 2562 (มกราคม ถึง ธันวาคม 2562) มีดังนี้

1. ปริมาณการจราจรทางอากาศ มีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 79,529 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2561  ร้อยละ 1.69      มีเที่ยวบินเฉลี่ย 220 เที่ยวบินต่อวัน

2. มีจำนวนผู้โดยสาร 11.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3.17 เฉพาะผู้โดยสารที่เดินทาง ระหว่างประเทศ      มีประมาณ 3.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.92 ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้โดยสารชาวจีนถึงกว่า  1.69 ล้านคน          เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณร้อยละ 19

3. มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 12,567 ตัน ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 15.72 และจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงจำนวนมาก ซึ่งจำนวนเที่ยวบินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เหลือเพียงวันละ 190 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 24 และจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 22,000 คน ลดลงเกือบร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และหากแนวโน้มการระบาดของไวรัส COVID-19 ยาวนานไปถึงกลางปี คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในช่วง 6 เดือนแรกของปี จะอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่มีจำนวน  5.74 ล้านคน เกือบร้อยละ 40 อย่างไรก็ตามการที่จำนวนผู้โดยสารลดลง ทำให้ความคับคั่งแออัดของผู้ใช้บริการลดลง  ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อพร้อมให้บริการหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะ  ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิฤตการณ์ครั้งนี้ โดยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ในยามที่เกิดการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง และให้การต้อนรับดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่จะมาเยือนในโอกาสต่อๆ ไป หลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้สมกับการเป็นประตู สู่วัฒนธรรมล้านนา