“วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 9”  ภายใต้โครงการรณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิดและภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยโฟเลต  ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563  ณ คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Social Share

“วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 9”  ภายใต้โครงการรณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิดและภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยโฟเลต  ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563  ณ คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และวิทยากรจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภากาชาดไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการ (ประเทศไทย) จัดกิจกรรม “วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 9”  ภายใต้โครงการรณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิดและภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยโฟเลต ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 กล่าวต้อนรับโดย ศ.ทพ.ธีระวัฒน์  โชติกเสถียร ประธานศูนย์รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , กล่าวรายงานโดย รศ.ทพญ.สั่งสม ประภายสาธก รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , กล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร.อาวรณ์  โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความพิการของบริเวณช่องปากและใบหน้าที่มีมาแต่กำเนิดส่งผลต่อความทุกข์ทรมานกับเด็กและบุคคลในครอบครัว ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจได้ตั้งแต่แรกคลอด ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจจะส่งผลกับการดูดนม การเกิดปอดอักเสบ เกิดหูน้ำหนวกได้ง่าย การได้ยิน การออกเสียง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการ  และการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น  สุขภาพอนามัยช่องปากไม่ดี การเรียงตัวของฟันและการสบฟันผิดปกติ พูดไม่ชัด  รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดเพื่อเย็บรอยแยกและการเจริญผิดปกติของกระดูกขากรรไกรบน

มีรายงานทารกแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ของประเทศไทยในอัตราระหว่าง ๑-๑.๖ คน ต่อ ๑,๐๐๐ คน มักพบในประชากรที่มีรายได้ต่ำและเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ส่วนใหญ่พบมากในถิ่นชนบททุรกันดารและครอบครัวที่ยากจน ซึ่งมารดาที่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือมีการใช้สารเสพติด อากาศมีมลพิษ และมักพบในครอบครัวที่เคยมีคนเป็นปากแหว่งเพดานโหว่และการดูแลรักษาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี และได้ร่วมในโครงการยิ้มสวยเสียงใสเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ยังอยู่ในการดูแลประมาณ ๔๐๐ คน จึงได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพการรักษาแบบองค์รวม และพัฒนาการเรียนการสอนแก่นักศึกษาทันตแพทย์ทั้งระดับก่อนและหลังปริญญา รวมถึงการเพิ่มประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้แก่ทันตแพทย์ที่สนใจและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่สังกัดโรงพยาบาลของสาธารณสุข ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยต่อไป