วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

5 เสือด้านปราบปรามยาเสพติด เปิดยุทธการปราบยาสามเหลี่ยมทองคำ 1511 สถานการยายังรุนแรง และยามีราคาถูกลง

Social Share

5 เสือด้านปราบปรามยาเสพติด เปิดยุทธการปราบยาสามเหลี่ยมทองคำ 1511 สถานการยายังรุนแรง และยามีราคาถูกลง

14 ธ.ค. 62 : พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 /ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ร่วมกับ นายมานิต โกเมศ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายปิติณัช ศรีธรา ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมทางศุลกากรภาค 3 ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กองกำลังผาเมือง , กองกำลังนเรศวร , กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 , กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , ตำรวจภูธรภาค 5 ,กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 , จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดพะเยา แถลง“ปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ครั้งที่ 1/63 – ศอ.บส.ชน. ณ ห้องประชุม ศป.บส.ชน.ค่ายกองพันพัฒนาที่ 3 อ.แม่ริม จว.เชียงใหม่

แม่ทัพน้อยที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ กล่าวว่า ในการร่วมกันสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ตามแนวชายแดนแม่น้ำโขงของแต่ละประเทศพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในปี 62 ที่ผ่านมา มีการจับกุม 1,023 คดี ผู้ต้องหา 2,021 คน ยาบ้ากว่า 400 ล้านเม็ด ไอซ์ 19,044 กิโลกรัม เฮโรอีน 3,342 กิโลกรัมและกรดไฮโดรคลอริก 77,046 ลิตร เนื่องจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ยังคงเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดหลักของโลกที่มีแนวโน้มปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ทั้ง 6 ประเทศ ได้เห็นชอบร่วมกัน ที่จะยกระดับการสกัดกั้นและปราบปราบยาเสพติด ให้เป็น “ปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ครั้งที่ 1/63 – ศอ.บส.ชน. ” ขึ้นเพื่อยกระดับความร่วมมือฯ ระหว่างไทยและเมียนมา ในการร่วมกันเฝ้าระวังและสกัดกั้นสารเคมีที่เสียงต่อการนำไปผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เพิ่มมาตรการ การวางจุดตรวจจุดสกัดกั้นยาเสพติดตามเส้นทาง ให้มีประสิทธิภาพ ภายในแต่ละประเทศของตน รวมทั้ง ดำเนินการต่อพื้นที่และหมู่บ้านสำคัญที่คาดว่าเป็นแหล่งผลิตหรือแหล่งพักยาเสพติดในประเทศของตน โดยทั้งสองประเทศจะดำเนินการสืบสวนปราบปรามกลุ่มผู้ผลิต และ ค้ายาเสพติดในประเทศของตน และจะมีการยกระดับการสืบสวนปราบปรามร่วมกัน เช่น เครือข่ายการค้ายาเสพติดที่มีความเชื่อมโยงทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่หนีหมายจับไปอยู่ในพื้นที่ประเทศเมียนมา , การวางแผนสืบสวนและขยายผลร่วมกัน โดยประเทศฝ่ายหนึ่งสามารถ ร้องขอให้มีการปฏิบัติการของอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพื่อขอความร่วมมือการสอบปากคำ และขยายผลอย่างรวดเร็วทันการณ์ ต่อไป

แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบัน แหล่งผลิตยังคงอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ การเข้าไปในพื้นที่เพื่อสกัดกั้นหรือดำเนินการกับแหล่งผลิตค่อนข้างที่จะยาก จากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ รวมถึงกลุ่มคนติดอาวุธ เพราะที่ผ่านมาจะพบเห็นกลุ่มติดอาวุธในการลักลอบขนยาเสพติด และขณะนี้เป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมียาเสพติดรอทะลักเข้ามามากน้อยแค่ไหนไม่สามารถที่จะบอกได้ แต่เชื่อว่ายังคงมีจำนวนมากที่รอการลักลอบขนยาเสพติดเข้ามา ซึ่งดูจากการที่ตรวจยึดและจับกุมที่ผ่านมาก็มีทั้งยาบ้าและยาไอซ์ โดยยาบ้า ยังคงเป็นยาเสพติดที่มีความต้องการในประเทศ ส่วนไอซ์ที่พบหลายร้อยกิโลในการลักลอบขนของแต่ละครั้ง ก็เพราะมีความต้องการในประเทศ และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการส่งผ่านยาเสพติดไปยังประเทศที่สาม ขณะนี้ทุกประเทศก็เร่งดำนินการป้องกัน และสกัดกั้นอยู่ รวมถึงในเขตพื้นที่ประเทศไทย ที่สกัดกั้นตั้งแต่ตามแนวชายแดน จนถึงตอนในของประเทศ และต้องยอมรับว่า สถานการณ์ยาเสพติดยังคงรุนแรง ต้นทุนในการผลิตยาเสพติดมีราคาที่ถูกลง แนวชายแดนอาจจะเหลือเม็ดละไม่ถึง 10 บาทก็มีความเป็นไปได้หมด

นอกจากนี้ก็ได้กำหนดเป้าหมายคู่ขนาน คือ ฝ่ายเมียนมา บริเวณพื้นที่เมืองสาด และจังหวัด ท่าขี้เหล็ก จำนวน 10 พื้นที่ 21 จุด และคนไทยหนีหมายจับไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 53 เป้าหมาย ส่วนพื้นที่เป้าหมายฝ่ายไทยกำหนดพื้นที่เสี่ยงสำคัญที่อาจมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติด และสารตั้งต้นหรือเคมีภัณฑ์ ผ่านเข้า – ออก พื้นที่ชายแดน จำนวน 20 ช่องทางหรือท่าข้าม , 23 พื้นที่หมู่บ้าน และ 12 เส้นทางเพ็งเล้ง ด้านจังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดเชียงราย

ด้าน นายมานิต โกเมศ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 กล่าวว่า ประเทศไทยมีเซฟแม่น้ำโขงปลอดภัย ที่มี 6 ประเทศเข้ามาร่วมในการสกัดก้้นยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมาก็สกัดกั้นยาเสพติดได้จำนวนมาก และการปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ก็ตั้งเป้าหมายที่จะลดการลักลอบยาเสพติดนำเข้ามาในประเทศ การสกัดกั้นสารตั้งต้น หรือเคมีภัณฑ์ ที่จะถูกส่งไปในแหล่งผลิตยาเสพติด มีการควบคุมการส่งสารเคมีเหล่านี้อยู่ แต่เชื่อว่ายังคงมีสารเคมีบางตัวที่ถูกเปลี่ยนไปแล้วนำไปใช้ผลิตเป็นยาเสพติดแทนสารตัวเดิมที่ถูกสกัดกั้น ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในช่วงที่กำลังค้นหาว่า มีสารตัวใดบ้าง และการจะหาแหล่งต้นตอการส่งสารตั้งต้นหรือเคมีภัณฑ์ ทุกประเทศต้องร่วมมือกันค้นหาว่าสารตั้งต้นเหล่านั้นถูกส่งมาจากประเทศใด แล้ว เป็นเคมีภัณฑ์ชนิดใด เพื่อจะได้สกัดกั้นสารเหล่านั้น เพื่อตัดต้นตอในการนำไปผลิตยาเสพติด และลดจำนวนการผลิตลง

เรื่องมาใหม่