วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

รัฐบาลให้ของขวัญปีใหม่ ถอดกัญชง-กัญชาแล้ว ขณะที่ ม.แม่โจ้ ขอเป็นแหล่งผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์

Social Share

รัฐบาลให้ของขวัญปีใหม่ ถอดกัญชง-กัญชาแล้ว ขณะที่ ม.แม่โจ้ ขอเป็นแหล่งผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์ คนไทย 74.68 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยที่จะนำมาทำยารักษาโรค

25 ธันวาคม 2561 : ช่วงเช้าวันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 13 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น จะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ขณะที่ รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า กัญชาเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นพืชเสพติดประเภท 5 แต่การเป็นพืชยาเสพติดก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า จะนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการแพทย์ และทราบว่ามี พรบ.ที่จะเปิดไฟเขียวในการนำมาใช้ประโยชน์แต่ต้องควบคุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการใช้ประโยชน์ โดยหน่วยงานที่ขอต้องเป็นหน่วยงานทางภาครัฐเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตรก็ได้รับการประสานจากหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุขให้เป็นต้นน้ำแห่งการผลิต โดยทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อม 4 ประการ คือ

1. ความพร้อมในเชิงพื้นที่ ที่เป็นโลเคชั่นในการปลูก ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการขอใบอนุญาตที่จะเป็นแหล่งผลิต ซึ่งในการเป็นผู้ผลิตต้องกำหนดพื้นที่การผลิตตามกฎหมาย โดยต้องปลูกในโรงเรือนที่สามารถควบคุมได้ กำหนดขนาดจำนวนของต้นกัญชา

2. ทางมหาวิทยาลัยก็มีสายพันธุ์ที่จะใช้ โดยมีนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้ ศึกษาเรื่องนี้มา 10 กว่าปี และอยู่ในสังกัดของผลิตกรรมการเกษตร มีนักวิชาการอยู่หลายท่าน มีนักวิจัยในเชิงพื้นที่ ก็มีความรู้ในขั้นตอนการผลิตเป็นอย่างดี   3. ความพร้อมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการผลิต ซึ่งขั้นตอนการผลิตแบบโรงเรือนปิดก็ไม่ได้อาศัยทางธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เพราะต้องควบคุม เกี่ยวข้องในเรื่องของแสง การให้น้ำ และ 4. การใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้ใช้จากต้น หรือใบ แต่ใช้จากสารสกัดที่ได้มาจากห้องแลป แล้วต้องมีการเช็คเรื่องสารสกัดที่ได้รับ เพื่อที่จะนำไปสู่การในเชิงการแพทย์

การเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นความพร้อมทั้ง 4 ประการ ก็น่าจะเพียงพอที่จะเป็นมหาวิทยาลัย ที่มีความพร้อมร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นประธานในเรื่องนี้ แม้ว่าในปัจจุบันก็มีปัญหาบางประการอยู่ ก็คือ ปัญหาด้าน ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของทางคณะกรรมการก็อาจจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องที่ควร และการใช้ พรบ.ในการใช้พืชชนิดนี้ มีความถูกต้อง ได้รับการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรม ต้องมีคณะทำงานที่ต้องมีความเข้าใจ ซึ่งทางกลุ่มผู้ใช้จริง ทั้งทางแพทย์ และแพทย์แผนทางเลือก ก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ ดังนั้น ต้องมีการหารือร่วมกัน และต้องมีคณะทำงานในด้านกัญชง กัญชา โดยเฉพาะ ซึ่งมีผู้ประกอบการทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศ ก็มายื่นขอร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก และเมื่อได้รับใบอนุญาต จนถึงขั้นเป็นแหล่งผลิตได้ ก็เชื่อว่าจะช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หากทำได้ก็จะลดการนำเข้า และผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน และโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ก็จะได้ใช้ตัวยาที่มีคุณภาพราคาถูกลงด้วย

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ดร.สุรชัย กังวล คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัย ได้ออกสำรวจในหัวข้อ “คนไทยคิดอย่างไร กับการนำกัญชามาเป็นยารักษาโรค” โดยใช้ผลสำรวจจากแม่โจ้โพลล์ออกสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,426 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2561 ผู้ที่ตอบเป็นผู้ชาย 60.03 เปอร์เซ็นต์ หญิง 31.17 เปอร์เซ็นต์ และเพศทางเลือก 2.80 เปอร์เซ็นต์

แบ่งเป็นกลุ่มอาชีพของผู้ตอบแบบสอบถาม 23.98 เปอร์เซ็นต์ เป็นพนักงานบริษัทเอกชน, 19.99 เปอร์เซ็นต์ ค้าขายและธุรกิจส่วนตัว, 15.85 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกษตรกร, 14.59 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้าราชการ/พนักงานราชการรัฐวิสาหกิจ, 12.34 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักเรียน นักศึกษา, 11.92 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มรับจ้างทั่วไป และ 1.33 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มทำงานอื่นๆ (ข้าราชการบำนาญ, แม่บ้าน) สำหรับช่วงอายุของผู้ตอบ ไม่เกิน 20 ปี 8.35 เปอร์เซ็นต์ อายุ 21-30 ปี 31.63 เปอร์เซ็นต์, 31-40 ปี 27.91 เปอร์เซ็นต์, 41-50 ปี 19.57 เปอร์เซ็นต์, 51-60 ปี 10.17 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่า 61 ปีขึ้นไป 2.38 เปอร์เซ็นต์

ผลการสำรวจพบว่า คนไทย คิดเป็น ร้อยละ 74.68 เห็นด้วยกับการนำกัญชามาเป็นยารักษาโรค ซึ่งเหตุผลเพราะ 61.78 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าหากมีการนำกัญชามาสกัดทำยารักษาโรคจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานำเข้าจากต่างประเทศ , เห็นด้วย 59.75 เปอร์เซ็นต์ ที่สารที่พบในกัญชาสามารถนำมาวิจัยและผลิตเป็นยารักษาโรคได้, เห็นด้วย 52.66 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าปัจจุบันกัญชาเป็นที่ยอมรับว่าเป็นของถูกกฎหมายในบางประเทศแล้ว, เห็นด้วย 49.93 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ (สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ปลูก หากมีการส่งเสริมให้มีการปลูกจริง) และเห็นด้วย 45.37 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประเทศมีโอกาสมีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่

ขณะที่ ร้อยละ 61.78 ย้ำว่า ควรนำมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และมีความเห็นอย่างไรเรื่องกัญชาในอดีต มีความเห็นว่า กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 59.68 กัญชาเป็นยาสูบประเภทหนึ่ง ร้อยละ 64.03 คิดว่ากัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารบางประเภท ร้อยละ 45.86 เปอร์เซ็นต์ และคิดว่าเป็นยารักษาโรคหรืออื่นๆ ร้อยละ 10.73 เปอร์เซ็นต์

สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 25.32 เหตุผลที่ไม่เห็นด้วย 17.95 เปอร์เซ็นต์ คิดว่ากัญชายังคงเป็นพืชเสพติดให้โทษ, 13.11 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าอาจเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เสพภายในประเทศ, 11.92 คิดว่า หน่วยงานที่ดูแลและควบคุมในเรื่องนี้ยังไม่เข้มแข็ง อาจเกิดการลักลอบการกระทำความผิดได้ในอนาคต, 11.71 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าประเทศไทยยังไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดการนำกัญชาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และ 11.15 เปอร์เซ็นต์ คิดว่า ทำให้ผู้เสพติดและนำไปสู่การเสพยาเสพติดประเภทอื่นๆ ตามมาภายหลัง