ปางช้างแม่สาเชียงใหม่ ต้องหารายได้ทุกเส้นทาง เปลี่ยนขี้ช้างให้เป็น “มูลช้างอินทรีย์” หารายได้เลี้ยงทั้งคนและช้างให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19
24 พ.ค. 63 : ที่ปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาเรื่องของค่าเลี้ยงดูช้าง เพราะต้องปิดกิจการชั่วคราวป้องกันเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางรัฐบาลยังไม่มีการผ่อนปรนในเรื่องนี้ ทำให้ปางช้างต้องหาเงินมาเลี้ยงดูแลทั้งคนและช้าง อย่างหนัก เพื่อให้อยู่รอด
นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ปางช้างแม่สา เปิดเผยว่า พิษเศรษฐกิจจากมาตรการล็อคดาวน์ประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว ยังคงกระทบอย่างหนักกับกลุ่มผู้ประกอบการปางช้างที่จังหวัดเชียงใหม่ รายได้จากการท่องเที่ยวที่กลายเป็นศูนย์ ทำให้ปางช้างหลายแห่งต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ที่ปางช้างแม่สาที่เคยให้พนักงานมาช่วยกันปลูกผักใช้ทำอาหารเลี้ยงพนักงานและครอบครัวเกือบ 300 ชีวิต แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะทุกคนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ ทางปางช้างจึงได้หาเส้นทางทุกอย่างเพื่อที่จะนำเงินมาช่วยเหลือพนักงานและช่วยเหลือช้างที่อยู่ในความดูแลแห่งนี้ กว่า 80 เชือก ประกอบกับก่อนหน้านี้ปางช้างเคยทำมูลช้างอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “เดอะช้าง” แต่ก็หยุดทำไปนานหลายปี จึงคิดว่าควรนำกลับมาทำอีกครั้ง เพื่อผลิตมูลช้างอินทรีย์อีกครั้ง สร้างมูลค่าจากมูลช้าง ให้เป็นรายได้เลี้ยงทุกคนในปางช้าง เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้
ทุกๆ วัน พนักงานจะขนมูลช้างวันละประมาณ 3 ตัน นำไปกองไว้ที่โรงหมัก ผ่านกระบวนการหมักด้วยน้ำอีเอ็มหลายขั้นตอน ใช้เวลานานอย่างน้อย 4 เดือน จนมูลช้างย่อยสลายกลายเป็นสีดำคล้ายดิน จากนั้นนำไปตากจนแห้งสนิท นำใส่เครื่องโม่เพื่อบดหยาบหรือบดละเอียด โดยพนักงานปางช้างแม่สา ช่วยกันร่อนมูลช้างที่ผ่านการหมักและตากแห้ง เพื่อแยกเศษใบไม้ใบหญ้า ก่อนนำไปเข้าเครื่องอัดเม็ด กลายเป็นผลิตภัณฑ์ “มูลช้างอินทรีย์” ใช้สำหรับบำรุงดิน โดยมีทั้งแบบอัดเม็ดและแบบธรรมดา บรรจุถุงจำหน่ายในราคาถูก แบบเม็ดกิโลกรัมละ 40 บาท , แบบหยาบ กิโลกรัมละ 40 บาท และ แบบละเอียดกิโลกรัมละ 30 บาท
นายเดช ตานะ ผู้ดูแลโรงมูลช้างหมัก เปิดเผยว่า ช้างกินพืชเป็นอาหารหลักทำให้มูลช้างมีไฟเบอร์สูงมากและจากการศึกษาพบว่าในขี้ช้างอุดมไปด้วยแร่ธาตุรอง เหมาะสำหรับใช้บำรุงดิน ขณะที่มูลช้างอินทรีย์ที่ผ่านการหมัก ผ่านความร้อน ทำให้เมื่อใช้ปกคลุมหน้าดินจะไม่เกิดหญ้าขึ้น แม้จะมีความชื้นก็ตาม ทำให้ผิวดินมีความชื้นสูง ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืช ส่วนมูลช้างอินทรีย์สู้โควิดชุดแรกเริ่มวางจำหน่ายแล้วที่หน้าทางเข้าปางช้างแม่สา ใครสนใจเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือช้างและพนักงานปางช้างแม่สา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 096-9659966
เรื่องมาใหม่
- กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย จัดหลักสูตรการพัฒนาเมืองเชียงรายให้มั่นคง เจริญในทุกมิติ
- ทุเรียนแม่ฮ่องสอน อร่อยไม่แพ้ที่ใด ไม่ใช่มีแค่ลูกสองลูกแต่มีเป็นตัน ททท.แม่ฮ่องสอน ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว เร่งผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- มูลนิธิพิพัฒน์แม่ส่องสอน มอบทุนการศึกษาให้กับบุตรสมาชิกอาสารักษาดินแดน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี2568
- แม่ฮ่องสอน พัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้านรักไทยให้เป็นไปตามแนวทางกฎหมาย มีความปลอดภัย เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ
- แม่ฮ่องสอน ไม่มีสายการบินแล้ว หลังบางกอกแอร์เวย์ (Bangkok Airways ) หยุดบิน ไม่ส่งผลกระทบท่องเที่ยวมากนัก