มูลนิธิพัฒนาแม่ฮ่องสอน ร่วมกับสมาคมสตรีแม่ฮ่องสอน จับมือภาครัฐ องค์กรเอกชน และประชาชนจากทุกอำเภอเกือบ 1,000 คน สร้างการรับรู้การขอใช้พื้นที่ป่าภายใน 180 วัน ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนา น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก ที่ยั่งยืน
26 ส.ค.63 พล.ท.สุรพล ตาปนานนท์ ประธานมูลนิธิพัฒนาแม่ฮ่องสอน , คุณนันทิยา วงศ์วานิชย์ นายกสมาคมสตรีจังหวัดแม่ฮ่องสอน จับมือภาครัฐ เอกชน ผู้แทนจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่1 สาขาแม่ฮ่องสอน , สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค , สำนักงานชลประทานจังหวัด และประชาชนจากทุกอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกว่า 1,000 คน สร้างการรับรู้การขอใช้พื้นที่ป่า ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เพิ่มรายได้ คนอยู่กับป่า ณ อาคารสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแม่ฮ่องสอน
พล.ท.สุรพล ตาปนานนท์ ประธานมูลนิธิพัฒนาแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ข้อมูลของกรมป่าไม้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7 ล้านไร่ พื้นที่ป่าที่สมบูรณ์มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยมากถึง 6 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 86.5 ของพื้นที่จังหวัด ประกอบด้วย 6 อุทยานแห่งชาติ 6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสภาพป่ากว่า 1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.5 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิ 105,319 ไร่ เป็นพื้นที่ ส.ป.ก.25,000 ไร่ และพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ 45,000 ไร่ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ราษฏรถือครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 853,929.5 ไร่ โดยมีพื้นที่เป้าหมายโครงการ คทช.ในป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดแม่ฮ่องสอน 9 ป่า รวมเนื้อที่ 75,669 ไร่ จากสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า และการพัฒนาด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะไฟฟ้าหลายหมู่บ้านในพื้นที่ทุรกันดารยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บางหมู่บ้านปักเสาเดินสายแต่ไร้แสงสว่าง ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ มากมาย ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้พยายามเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา คนอยู่กับป่า ป่าไม่ถูกทำลาย
พล.ท.สุรพล ตาปนานนท์ ประธานมูลนิธิพัฒนาแม่ฮ่องสอน กล่าวต่อไปว่า ในการจัดเสวนาดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขออนุญาต การขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายใน 180 วัน การขออนุมัติหลักการทำถนน,ไฟฟ้า โดยนำแนวทางโครงการบ้านน้ำบ่อสะเป่ อ.ปางมะผ้า ซึ่งทำสำเร็จแล้วมาเป็นโมเดล รวมทั้งการสร้างรายได้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการห้วยม่วงก่อนโมเดล และการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำอย่างไรเราจะสามารถปักเสา เดินสายไฟ ปล่อยกระแสไฟฟ้า ผ่านเขตอนุรักษ์ ผ่านป่า ถึงชุมชนถึงบ้านเรือนประชาชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ได้ ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างถนนผ่านเขตป่าได้ หรือว่าโครงการของชลประทาน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ที่ติดในพื้นที่ของเขตป่าสงวน เขตอนุรักษ์ หรืออุทยานสามารถขับเคลื่อนได้
รวมทั้งตามมติ ครม.สิ่งใดที่มีการก่อสร้างในเขตของกรมป่าไม้จะต้องมีการขออนุญาต สำหรับส่วนราชการที่ทำไปแล้ว สร้างไปแล้วที่ยังไม่ขออนุญาตจะต้องทำเรื่องขออนุญาตภายใน 180 วันโดยยึดหลักของกฎหมายเข้ามาช่วยแก้ปัญหา การเสนอโครงการจะต้องมีหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น ป่าไม้ หน่วยอนุรักษ์ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เข้ามาร่วมเป็นเจ้าของโครงการด้วย ทุกภาคส่วนเรามาร่วมกันพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตนได้เชิญผู้แทนจากป่าไม้ , เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค , และสำนักงานชลประทาน มาให้คำแนะนำ มาตอบคำถาม มาให้ข้อมูลให้ความรู้แก่ประชาชนถึงข้อกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ มาเริ่มต้นแนวทางปฏิบัติที่เป็นจริงเป็นจัง มาขับเคลื่อนร่วมกัน เอกสารโครงการติดขัดตรงไหนเรามาช่วยกันแก้ ก็จะทำให้การพัฒนาแม่ฮ่องสอนสามารถเดินไปได้
เรื่องมาใหม่
- แม่สะเรียง เส้นทางโรงเรียนชายขอบ ยังวิกฤตครูชาวบ้าน เดินทางนับ 10 ชม. ฝ่ากองดินสไลด์ถนนเละ ยกรถข้ามน้ำ
- น้ำสาละวินเพิ่มสูงขึ้น อบต.แม่สามแลบ ขอความร่วมมืองดเดินเรือเพื่อความปลอดภัย
- อบต.ขุนแม่ลาน้อย เร่งเปิดเส้นทางดินสไลด์ ถนนเขตรอยต่อบ้านฟักทอง ต.ขุนแม่ลา – บ้านปางหินฝน หลังพายุฝนกระหน่ำไม่หยุด
- อำเภอสบเมย 7 หมู่บ้าน 18 หย่อมบ้าน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ถูกตัดขาด เส้นทางมีดินสไลด์ ไหล่น้ำกัดเซาะ ต้นไม้หักโค่น ภาวนาอย่าให้มีผู้ป่วยฉุกเฉิน
- อำเภอสบเมย ติดตามสถานการณ์อุทกภัยบ้านเรือนราษฎรริมน้ำยวม จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา”