วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

มช. ประสบความสำเร็จนำดอกปทุมมาผสมกับกระเจียว จนได้สายพันธุ์ใหม่ อยู่ได้นานกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า

Social Share

ภาควิชาพืชศาสตร์ มช. ประสบความสำเร็จนำดอกปทุมมาผสมกับกระเจียว จนได้สายพันธุ์ใหม่ อยู่ได้นานกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า ดอกมีขนาดใหญ่กว่า ล่าสุดจดคุ้มครองพันธุ์ที่พัฒนาได้เรียบร้อยแล้ว

8 ก.ย. 62 : ศาตราจารย์ ดร.โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พืชกลุ่มปทุมมา และกระเจียว เป็นพืชที่ชอบน้ำฝน มีความหลากหลายของชนิด (species) มาก ในประเทศไทยพบประมาณ 38 ชนิด แต่สิ่งที่มักจะพบในพันธุ์ป่าคือ บางชนิดมีอายุปักแจกันสั้น ดอกมีขนาดเล็ก หรือบางดอกใหญ่แต่ไม่สวย บางดอกก้านเล็ก หากมีก้านก็อาจจะสั้นเกินไป

ต่อมาทางศูนย์บ้านไร่ฯ คณะเกษตรศาสตร์ มช. จึงได้พัฒนาสายพันธุ์จากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่พบทั่วประเทศ เลือกลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่น มาทำการผสมกัน จากนั้นก็คัดเลือกลูกผสมที่ดีที่สุด การพัฒนาสายพันธุ์ต้องยอมรับว่าใช้เวลานานมากอย่างน้อย 5 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ ได้ลูกผสมที่สวยงามออกมา ที่ผ่านมาได้ลูกผสมกระเจียวและปทุมมาหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์เกรท เรน (ดอกมีขนาดใหญ่ สะดุดตา สีสดใส สวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็นทั้งชาวไทยและต่างประเทศ) และเกรท คิง ซึ่งพันธุ์ เกรท คิง จะมีดอกขนาดใหญ่คล้ายกับดอกกระเจียว ส่วนใบจะมีลักษณะคล้ายใบปทุมมา ลักษณะกลีบประดับส่วนบนมีสีแดงเข้ม กลีบประดับล่างสีเขียว หรือเหลืออมเขียว ขอบกลีบสีแดงเข้ม

การคัดเลือกลักษณะเด่นของลูกผสมที่พัฒนาขึ้นมา โดยดูตามการใช้ประโยชน์ เช่น หากนำมาเป็นไม้ตัดดอก จะคัดเลือกลูกผสมที่มีอายุปักแจกันประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ หากเป็นสายพันธุ์เดิมจะอยู่ได้ประมาณ 3 วัน ส่วนลักษณะดอกของลูกผสมที่พัฒนาได้ ดอกมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ใบมีขนาดเล็ก ก้านดอกยาวแข็งแรง ทนทานโรค หากเป็นไม้กระถาง จะคัดเลือกลักษณะที่ต้นมีขนาดกะทัดรัด ไม่สูง ก้านดอกสั้น ช่อดอกสูงเหนือใบ มีการแตกกอดี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกหัวพันธุ์จำนวนมาก และปัจจุบันมีการส่งไม้ตัดดอกไปจำหน่ายต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ทางคณะเกษตรศาสตร์ มช. ร่วมกับ ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้นำพันธุ์ไม้ดอกปทุมมาและกระเจียวไปทดสอบในพื้นที่ภาคใต้ อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา แล้วได้ผลเป็นอย่างดี เกษตรกรภาคใต้ขายได้ราคาสูงกว่าทางภาคเหนือ เนื่องจากพื้นที่ผลิตไม้ดอกมีน้อย จึงนับว่าเป็นดอกไม้ที่ปรับสภาพตามภูมิประเทศได้ดีมาก ซึ่งดอกไม้ที่จำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ต้องสูญเสียเม็ดเงินไปต่างประเทศไม่น้อย ดังนั้น ศูนย์บ้านไร่ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีใจรักในการปลูกดอกไม้มาอบรม ถ่ายทอดความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และแนะนำด้านการตลาด โดยทำงานร่วมกับสำนักงานจังหวัดยะลา

ในปัจจุบันมีเกษตรกรให้ความสนใจปลูกดอกไม้จำนวน 6 กลุ่ม ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้ในครอบครัวที่ดีขึ้น ส่วนด้านการตลาดยังคงไปได้ไกล ลดการนำเข้าดอกไม้จากแหล่งต่างๆ ได้ รวมถึงเตรียมต่อยอดไปที่ จ.นราธิวาส และที่จังหวัดอื่นๆ ด้วย สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่