วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

สาธารณสุขฯ เชียงใหม่ สยบข่าวลือตรวจพลาด ยืนยันผู้ป่วยโควิดรายที่ 41 ตรวจไม่พลาดแต่ที่หายเร็วเพราะเจอในช่วงที่โรคใกล้หายแล้ว

Social Share

สาธารณสุขฯ เชียงใหม่ สยบข่าวลือตรวจพลาด ยืนยันผู้ป่วยโควิดรายที่ 41 ตรวจไม่พลาดแต่ที่หายเร็วเพราะเจอในช่วงที่โรคใกล้หายแล้ว

18 พ.ค. 2563 : จากเหตุการณ์ในโลกโซเชียลมีการโจมตีอย่างหนัก เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในทำนองว่า การตรวจโรคของผู้ป่วยรายที่ 41 ของจังหวัดเชียงใหม่ อาจจะพลาดเพราะผู้ป่วยรายนี้หายเร็ว และออกจากโรงพยาบาลหลังพบเชื้อเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้น ทำให้หลายคนเป็นกังวล

ด้าน นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และนายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ด้านระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยรายที่ 41 ของจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ป่วยชายไทย อายุ 39 ปี อาชีพ ช่างสัก ซึ่งเดินทางจากจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และเดินทางเข้าบ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 โดยกักตัวสังเกตอาการอยู่ในบ้านพัก ตามมาตรการ home quarantine ของทีมโควิดหมู่บ้าน มีการเดินทางออกนอกที่พักบ้างช่วงสั้นๆโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อซื้ออาหารและของจำเป็น ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ทางโรงพยาบาลสันกำแพงได้เข้าเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อตามมาตรการเชิงรุกของจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ในผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ตทุกคน ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563ได้มีรายงานผลตรวจ พบเชื้อทั้งจากห้องแลป สคร.ที่ 1 และศูนย์วิทย์ฯเชียงใหม่ และได้นำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครพิงค์ทันที โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างไร ระหว่างรับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ อาการปกติ ไม่มีไข้

จากนั้นในวันที่ 14 พฤษภาคม ทางโรงพยาบาลนครพิงค์ได้ทำการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 โดยส่งตรวจแลป ที่โรงพยาบาลนครพิงค์และศูนย์วิทยฯผลการตรวจไม่พบเชื้อทั้งสองแลป ทางทีมแพทย์ได้วางแผนตรวจติดตามตรวจหาเชื้ออีกครั้งใน 48 ชั่วโมงถัดมาตามเกณฑ์การรักษา โดยได้ตรวจในวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 และพบว่าไม่มีเชื้อในตัวผู้ป่วยแล้ว ทีมแพทย์ร่วมกับทีมระบาดวิทยาได้สรุปว่า ผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 มาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ โดยที่มีอาการน้อยมากจนผู้ป่วยไม่ทันสังเกตและถูกตรวจพบในช่วงท้ายของระยะเวลาการเจ็บป่วยตามมาตรการตรวจเชิงรุกของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้อนุญาตให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้วเมื่อวานนี้ (17 พ.ค. 63) แต่ยังคงต้องกักตัวสังเกตอาการอีก 14 วัน ตามกระบวนการ
ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ความแม่นยำ ในการตรวจหาเชื้อ ในห้องปฏิบัติการของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ยืนยันว่า มีความถูกต้องแม่นยำ และได้มาตรฐานทางการแพทย์

โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ที่ผู้ป่วยรายนี้ อาจจะรับเชื้อมาก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้วโดยที่ไม่แสดงอาการป่วยใดๆ ตั้งแต่ก่อนที่จะเดินทางเข้าจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งมีการตรวจพบในช่วงที่ใกล้จะหายแล้ว ซึ่งจากการ พูดคุยและสอบสวนโรค ผู้ป่วยรายนี้ยืนยันว่า มีกักตัวอยู่บ้านตามมาตรการและมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดีด้วยการสวมหน้ากาก เมื่อออกไปทำธุระจำเป็นข้างนอกบ้าน และไปเพียงไม่กี่ที่

รวมทั้งตัวผู้ป่วยไม่ได้ลงจากรถด้วย ทั้งนี้จากการติดตามสืบหาตัว ผู้ที่อาจจะมีโอกาสใกล้ชิดผู้ป่วยนอกบ้าน พบมีเพียงผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย จำนวน 5 คนเท่านั้น และได้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ ซึ่งผลตรวจไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด จึงอยากให้ ประชาชนผ่อนคลายความกังวลพร้อมระบุว่า กรณีของผู้ป่วยรายนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ ปรากฏว่ามีการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้ผู้ป่วยและครอบครัว ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกข่มขู่คุกคามและเกิดความเครียด จนต้องมีการจัดเจ้าหน้าที่ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เข้าดูแลพร้อมทั้งอยากวิงวอนขอความร่วมมือจากประชาชนและสังคม ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย