วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

รีวิว เปิดรูทเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชีวิตและธรรมชาติ (เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน) ทริป 3 วัน 2 คืน

Social Share

สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ได้นำคณะผู้สื่อข่าวเดินทางสำรวจเส้นทาง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และกลุ่มชาติพันธุ์ล้านนา โดยวันแรกได้เดินทางออกตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทาไปที่สวนสนบ่อแก้ว แหล่งปลูกสตรอเบอรี่แบบเกษตรอินทรีย์ แปลงใหญ่ที่สำคัญของอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และยังมีสินค้าโอทอปมากมายที่มาจากสตรอเบอรี่ให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย แนะนำหากมาช่วงฤดูหนาว นอกจากจะได้ชิมสตรอเบอรี่สดๆ จากไร่แบบปลอดสารเคมีแล้ว ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศด้วยการลงไปเก็บสตรอเบอรี่เองในไร่ ได้ทั้งบรรยากาศได้ทั้งความสนุกอีกด้วย หากใครมาแล้วอยากได้ของฝากเกี่ยวกับสตรอเบอรี่และสินค้าโอทอปของดีของอำเภอสะเมิง ที่แห่งนี้ก็มีจำหน่ายด้วยเช่นกัน ทั้งน้ำสตรอเบอรี่ เหล้าสตรอเบอรี่ ไวน์สตรอเบอรี่ สตรอเบอรี่ทั้งแบบสดและแบบอบแห้ง

จากช่วงใกล้เที่ยง ก็เดินทางกันต่อไปเพื่อมุ่งหน้าไปดูป่าสน ที่มีอายุกว่า 40 ปี ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพของป่าสนที่เขียวชะอุ่ม เรียงเป็นแถวยาวเต็มแนวป่า ให้บรรยากาศคล้ายกับมองดูสวนสนจากเส้นทางของต่างประเทศแบบนั้นได้เลย เพราะบรรยากาศร่มรื่น แสงแดดที่สาดส่องลงรอดจากกิ่งสนลงมา ประกอบกับอากาศหนาวเย็นทำให้ได้บรรยากาศที่สวยงามจนยากจะลืม เมื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศแล้ว ก็ถึงช่วงเวลาเดินทางเพื่อไปรับประทานอาหาร ซึ่งทางคณะได้ไปยังพื้นที่ตัวอำเภอแม่สะเรียง เพื่อทานอาหาร และพักผ่อนก่อนจะเดินทางต่อ เพราะจุดมุ่งหมายต่อไปเรียกว่า เป็นสถานที่ห้ามพลาดอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ในพื้นที่แห่งนี้มีท่านจะได้พบกับความแปลกใหม่ และเป็นขนมที่หาทานที่อื่นไม่ได้ เรียกว่าขนมซ่วยทมิฬ หรือบางคนเรียกว่าส่วยทะมิน ขนมชนิดนี้เป็นคำมาจากภาษาพม่า หากแปลเป็นไทยจะเรียกว่า “ข้าวแก้ว” ทำจากข้าวเหนียวผสมกะทิ น้ำตาล จากนั้นนำไปกวนจนเหนียวได้ที่ ก่อนจะเทลงถาดและนำแผ่นเหล็กมาทับไว้ แล้วเข้าสู่เตาเผา เพื่อให้ด้านหน้าขนมมีรอยไหม้ และทำให้เกิดความหอม ส่วนขนมอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ขนมอาละหว่า หรือฮลหว่า (หน้าตาคล้ายขนมหม้อแกง) เป็นขนมพื้นเมืองไทยใหญ่ ที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสม กะทิและน้ำตาลอ้อย ซึ่งวิธีการทำก็จะคล้ายกับขนมซ่วยทมิฬ และที่อำเภอขุนยวมแห่งนี้ก็มีสถานที่สอนทำขนมชนิดนี้อยู่ด้วย เนื่องจากปัจจุบันขนมทั้งสองชนิดนี้ เรียกว่ามีการทำที่ลดลงจากในอดีตมาก เพราะปัจจุบันประชาชนในพื้นที่และเด็กวัยรุ่นมักจะออกไปทำงานในจังหวัดอื่นๆ คงเหลือแต่ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาวบ้านบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงทำเพื่ออนุรักษ์ขนมดั้งเดิมของท้องถิ่น และมีจำหน่ายในพื้นที่ด้วย แต่แนะนำให้รีบกินตอนที่กำลังทำ เพราะจะได้ความหอม นุ่ม และความอร่อย

เสร็จจากการเรียนรู้การทำขนมแล้ว สถานีต่อไปเป็นแลนด์มาร์คที่ห้ามพลาด ที่เป็นประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน อนุสรณ์มิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น เป็นสะพานเหล็กที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ให้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นด้วย ไม่ได้แค่ถ่ายภาพเซลฟี่กับบรรยากาศ แต่ยังได้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์กลับไปอีกด้วย แต่ยังไม่จบทริปนี้ยังคงเป็นการเรียนรู้อยู่ เพราะมาแล้วต้องเข้าถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนให้ครบถ้วน จากการทำขนม สู่ประวัติศาสตร์ และต้องไปเรียนรู้เรื่องแนวคิดของชาวบ้าน ที่ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งที่แห่งนี้จะได้ทราบว่า แนวความคิดของชาวบ้านที่ช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหายและคงอยู่ตลอดไป มีแนวคิดอย่างไร และปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างไร เป็นการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่อื่นได้อีกด้วย

หมดทริปของวันนี้เพราะเป็นช่วงเย็นจากการเดินทาง 1 วัน จะเห็นว่าได้อะไรมากมาย ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลินกับธรรมชาติ และคงตบท้ายด้วยอาหารเย็น ฟังเพลง ก่อนจะพักผ่อน เพื่อเตรียมตัวเดินทางในวันที่สอง ซึ่งยังไม่ได้เดินทางออกจากอำเภอขุนยวม เพราะจุดมุ่งหมายต่อไปคือ วัดม่วยต่อ เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญในพื้นที่ เพราะวัดแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ เจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ ล้อมรอบด้วยพระเจดีย์บริวาร ยอดประดับด้วยฉัตรโลหะ แขวนกระดิ่งโดยรอบ และจอง(ปราสาท) สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2432 โดยเจ้านางเมียะ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนในสมัยนั้น ชื่อวัดนี้ได้มาจากเจ้าอาวาสรูปแรกย้ายมาจากวัดม่วยต่อ อำเภอหมอกใหม่ รัฐฉาน ในประเทศเมียนมา และท่านได้นำชื่อวัดม่วยต่อมาใช้ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “จองหม่วยต่อ” และเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน และพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง นำมาจากประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2466 พระประธานในศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ศิลปะแบบพม่า พระพุทธรูปสิงห์ 1 สิงห์ 3 ภายในวัด ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในศาลาการเปรียญ งาช้างแกะสลักเป็นพระพุทธรูป 2 คู่ อยู่ภายในศาลการเปรียญ นำมาจากประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2466 แท่นพระแบบปราสาทยอดแหลม เจดีย์และระฆังแบบกระดิ่งรูปใหญ่ ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างทรุดโทรม พระเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ ล้อมรอบด้วยพระเจดีย์บริวาร ยอดประดับด้วยฉัตรโลหะ แขวนกระดิ่งโดยรอบและจอง (ปราสาท) ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2527

เมื่อกราบไหว้ขอพรเสร็จ ก็ถึงช่วงเวลาเดินทางไปยังสถานีต่อไป แต่การเดินทางอาจจะใช้เวลาสักหน่อย เพราะต้องมุ่งหน้าเดินทางกลับจากอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ระหว่างทางก่อนเข้าสู่อำเภอแม่แจ่ม มีจุดน่า 2 จุด จุดแรกไร่สตรอเบอรี่ “ไร่เยรีโค” และจุดที่สอง ถ่ายรูปน้ำออกฮู @แม่แจ่ม หรือเรียกว่า “น้ำออกรู” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอวม หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งยาว ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งตำนานของสถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้เท้าปักเข้าที่เชิงดอยแห่งนี้แล้วอธิษฐานให้น้ำไหลออกมา ซึ่งพระองค์ทรงใช้น้ำนี้บ้วนพระโอษฐ์ (บ้วนปาก) ด้วย ซึ่งความแปลกของสถานที่แห่งนี้คือน้ำจะไหลออกจากรูขนาดเท่าฝ่ามือบริเวณเชิงดอยเล็กๆ แล้วไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยแห้งแล้งไม่ว่าจะฤดูไหน แล้วน้ำก็ใสสะอาดจนเป็นแลนด์มาร์ค และแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของอำเภอแม่แจ่มอีกแห่งหนึ่ง

มาถึงอำเภอแม่แจ่มแล้ว ก็ต้องแวะชม วัดพุทธเอ้น วัดเก่าแก่ที่มี “อุโบสถกลางน้ำ(อุทกสีมา)” 1 ใน 2 แห่งของภาคเหนือ และบ่อน้ำศักดิสิทธิ์ที่มีน้ำบริสุทธิ์ไหนออกมาตลอดปี ทริปทัวร์วัดทำบุญยังไม่จบนะ เพื่อเอาใจสายทำบุญ ก็เดินทางไปต่อที่วัดยางหลวง ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าผา ชาวกะเหรี่ยง หรือ “ยาง” เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา สิ่งที่น่าสนใจ คือ กู่ปราสาท หรือ กิจกูฏ คนโบราณถือว่าเป็นประตูไปสู่สวรรค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของกิจกูฏเป็นแบบพุกามจากพม่า ผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน

เสร็จจากการทำบุญแล้ว ก็มองหาเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ แม้แต่ละครดัง “กาสะลอง” ยังให้ความสนใจและได้รับกระแสตอบรับจากคนทั้งประเทศด้วย สิ่งนี้เป็นอะไรไม่ได้นอกจาก “ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” ผ้าทออันทรงคุณค่าของอำเภอแม่แจ่ม เอกลักษณ์เฉพาะด้านที่สวยงามและทรงคุณค่าเพราะแต่ละผืนทำด้วยความปราณีตและทำด้วยใจ จนออกมาเป็นเส้นสาย ลายผ้าที่งดงาม หลังจากชื่นชมความงามของวิถีชีวิตและการทอผ้าแล้ว ก็ถึงเวลาเย็นที่จะเดินทางเข้าที่พักและหาอะไรกินก่อนนอน และเป็นคืนที่สองแล้วสำหรบการเดินทาง

โดยทริปสุดท้ายของวันที่สาม เมื่อมาถึงอำเภอแม่แจ่ม ก็ต้องเดินทางต่อไปยัง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง สถานที่แห่งนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะถือเป็นจุดสูงสุดของในแดนสยาม ช่วงนี้ที่ทางคณะเดินทางมาเป็นช่วงฤดูหนาวพอดี ทำให้บรรยากาศหนาวเย็นอย่างมาก ช่วงเช้ามีทะเลหมอกและสายหมอกในตอนเช้าที่สวยงาม อุณหภูมิบนยอดดอยเรียกว่าเป็นอุณหภูมิเพียงแค่เลขตัวเดียว อยู่ที่ 2 – 8 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับสภาพในแต่ละวัน หากโชคดีก็จะได้เห็นแม่คะนิ้ง หรือน้ำค้างแข็งในตอนเช้าด้วย แต่ทริปนี้เสียดายนิดหน่อยที่มาแล้วไม่เจอ เอาไว้ทริปหน้าจะถ่ายภาพของน้ำค้างแข็งมาให้ชม

หลังจากตื่นเช้าสัมผัสกับธรรมชาติที่หนาวเย็น และรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องออกท่องเที่ยวต่อถือว่าเป็นวันสุดท้ายของการปิดทริปเส้นทางการเดินทางจากเชียงใหม่ สู่เมืองสามหมอก แม่ฮ่องสอน และย้อนกลับมาเชียงใหม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้ง โดยทริปนี้ในเมื่อเป็นทริปวันสุดท้าย ก็พลาดไม่ได้ที่จะถึงเวลาหาของฝาก นะนำให้ไปที่ ตลาดชุมชนชาวม้ง ที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมผลิตภัณฑ์เกษตรบนดอยอินทนนท์ จะพบกับผัก ผลไม้ และอาหารของคนท้องถิ่นนานาชนิด รวมถึงผักจากโครงการหลวงที่ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกก็มีวางขายเช่นกัน

เสร็จแล้วก็ถึงเวลาพักเที่ยงแวะหาอะไรกินเติมพลังก่อน เพราะทุกทริปคือการท่องเที่ยวและต้องใช้พลังงานในการเดิน เมื่อพักผ่อนเสร็จแล้ว เดินทางต่อไปที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ขุนวาง ที่แห่งนี้เรียกว่าเป็นที่สุดฮอต เป็นแลนด์มาร์คช่วงฤดูหนาวที่พลาดไม่ได้เลย เพราะความงามของต้นพญาเสือโคร่งที่เรียกว่า “ซากุระเมืองไทย” เบ่งบานเป็นแถวยาว เมื่อยืนถ่ายภาพคิดว่าอยู่ต่างประเทศแน่นอน บรรยากาศฟินๆ มาพร้อมกับอากาศที่เย็นสบาย ถือเป็นทริปที่สวยงามปิดท้ายของทริปนี้อย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
I LOVE FLOWER FARM เตรียมเปิดทุ่งดอกไม้ 4 โซน รับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น 12 ต.ค. 66 นี้
ห้ามพลาด ชลประทานเชียงใหม่ ชวนนักตกปลา “ล่าชะโดยักษ์” จิบกาแฟสันเขื่อนอ่างแม่จอกหลวง
(มีคลิป) ชาวอำเภอเชียงดาว เปิดประเพณีเดินเข้าถ้ำเชียงดาวขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเนื่องในวันวิสาขบูชา
(มีคลิป) เจ้าอาวาสวัดโลกโมฬี ตั้งโต๊ะแจกถุงยังชีพนับร้อยชุด ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากวิกฤติโควิ-19
รก.อธิการบดี มทร.ล้านนา ร่วมการประชุมติดตามการดำเนินงานในพื้นที่โครงการหลวง สืบสานศาสตร์พระราชา ต่อยอดงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
คลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่พบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 172 ราย และมีคลัสเตอร์ย่อยที่เชื่องโยงกับตลาดเมืองใหม่แล้ว 10 คลัสเตอร์