วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ททท.สำนักงานลำปาง เปิดเส้นทางท่องเที่ยว Green Season 3 เส้นทางที่ห้ามพลาดจากลำพูน-ลำปาง

Social Share

ททท.สำนักงานลำปาง สร้างการรับรู้อัตลักษณ์ในพื้นที่ช่วง Green Season นำสื่อมวลชนจากจังหวัดเชียงใหม่ทัศนศึกษาเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดลำปางและลำพูน ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2563

นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง นำทีมทัศนศึกษาเส้นทางท่องเที่ยว In Green Season สร้างการรับรู้อัตลักษณ์ในพื้นที่ ด้วยการนำเสนอ 3 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่ 1 ลำปาง แจ้ห่ม เมืองปาน จากตัวเมืองลำปาง ใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 1035 เข้าสู่อำเภอแจ้ห่มชมความงามของเส้นทางธรรมะ นำชมวัดสำคัญในเส้นทางพร้อมสัมผัสธรรมชาติที่เจียวขจีผนวกกับกิจกรรม กินปู ดูนา พาฟิน ที่ต้องการสร้างภาพจำของพื้นที่ อ.แจ้ห่ม ที่มีสินค้าขึ้นชื่อ คือ น้ำ ปู หรือ น้ำปู๋ เป็นอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในภาคเหนือ น้ำปูนั้นเป็นอาหารที่เกิดจากการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินเป็นเวลาแรมปี นอกจากที่ชาวบ้านจะทำไว้กินเองเเล้ว ยังนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย น้ำปูที่มีชื่อเสียง ได้แก่ น้ำปูที่ทำที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และน้ำปูที่ทำที่จังหวัดพะเยา

การทำน้ำปู นั้นไม่มีขั้นตอนใดที่ยุ่งยาก เเต่ต้องอาศัยความอดทนและเพียรพยายามของผู้ที่ทำอย่างสูง วัตถุดิบในการทำนั้นสามารถหาได้ในท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ ปูดิบ 100 กิโลกรัม ตะไคร้ ประมาณ 3 กิโลกรัม ใบมะกอก 10 กิโลกรัม จะทำให้น้ำปูมีสีดำสนิท ใบฝรั่ง 2 กิโลกรัม จะทำให้น้ำปูข้นและเหนียว ใบขมิ้นหรือใบข่า 2 กิโลกรัม จะทำให้มีกลิ่นหอม การทำน้ำปูในขั้นเเรกนั้นต้องมีปูนาเป็นจำนวนมากเสียก่อน (จำนวนหลายกิโลกรัม) หากต้องการน้ำปู 1 กิโลกรัม ก็ต้องใช้ปูนา ประมาณ 5 กิโลกรัม ปูนาที่ใช้ทำนั้นได้มาโดยการจับปูนาในท้องนา ชาวบ้านมักจะไปจับปูนาในวันที่มีเเดดจัด เเละอากาศร้อน เพราะจะมีปูนาจำนวนมากที่หลบหนีความร้อนจากน้ำในนาขึ้นมาเดินบนคันนา ปรากฏการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านสามารถจับปูนาจำนวนมากได้ง่ายขึ้น เเต่บางทีความเชื่อเช่นนี้ก็อาจมีข้อผิดพลาดได้เหมือนกัน หากปีใดมีอากาศวิปริตผิดฤดูกาลเเล้วชาวบ้านต้องจับปูนาโดยการใช้สวิงช้อนปูนาจากในนา การจับปูนานั้นมักทำกันในช่วงที่ชาวนาเริ่มไถนาเพื่อที่จะดำนา ส่วนใหญ่มักอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน นำปูนาที่ได้มาแช่น้ำเพื่อให้ปูนาคายสิ่งสกปรกออกเเละล้างด้วยน้ำซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ปูนาสะอาดขึ้น นำปูนาที่ได้ไปตำในครกที่เรียกว่า ครกมอง ในการบดปูก็ใส่ใบฝรั่ง ใบตะไคร้ ใบขมิ้น หรือใบข่า บดส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียดเเละนำมากรองลงในหม้อดินหรือถังพลาสติก หลังจากที่กรองเสร็จ นำกากปูที่ได้มาตำซ้ำอีก 2-3 ครั้ง แล้วกรองลงในหม้อดิน จากนั้นนำไปกรองใส่ถังทิ้งไว้ให้เกิดปฏิกิริยา ช่วงนี้เรียกน้ำปูที่ได้ว่า น้ำปูดิบ ชาวบ้านมักเอาใบตองหรือผ้าขาวบางมามัดปากหม้อหรือถังไว้ เพื่อกันไม่ให้แมลงหรือสัตว์เล็ก ๆ เข้าไปในหม้อ หรือถังหมักน้ำปู ทิ้งไว้ 1 คืน หรือ 1 วัน เพื่อให้น้ำปูมีกลิ่นเเละรสชาติที่ดีขึ้น เมื่อครบ 1 คืน หรือ 1 วัน เเล้วนำน้ำปูมาเคี่ยว ส่วนใหญ่ทางกลุ่มจะเริ่มบดปู เวลาประมาณ 7-8 โมงเช้า จะเริ่มเคี่ยวในช่วงเวลาประมาณบ่าย 3-4 โมงเย็น แล้วเสร็จได้น้ำปู ก็ประมาณ 6 โมงเช้า ของวันใหม่ การเคี่ยวน้ำปูนั้นต้องทำกันในทุ่งนา เช่น กระท่อมกลางนาที่อยู่ห่างไกลผู้คน เพราะน้ำปูนั้นมีกลิ่นที่แรงมาก ชาวบ้านจะเคี่ยวน้ำปูโดยใช้ฟืน ซึ่งในขั้นเเรกของการเคี่ยวนั้นจะใช้ไฟเเรงก่อน เเละค่อยๆ ลดไฟลง เมื่อเคี่ยวจนน้ำปูเกือบแห้งเเล้วในช่วงนี้ต้องคอยคนตลอด เพื่อไม่ให้น้ำปูด้านล่างแห้งติดกระทะ จากนั้นก็จะเติมเกลือเล็กน้อย อาจมีการใส่ผงชูรสเพื่อทำให้น้ำปูที่ได้นั้นมีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น เมื่อน้ำปูใกล้จะแห้งจะจับกันเป็นก้อนสีดำ

สำหรับผลิตภัณฑ์บางตลาดที่ต้องการให้ใส่กระปุกเล็ก สมาชิกกลุ่มจะนำมาใส่ “ออม” หรือกระปุก ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกระปุกของกะปิ นำมาปิดฝาให้เเน่น เเล้วเก็บไว้บริโภคหรือรอจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี การทำน้ำปูในเเต่ละท้องถิ่นนั้นมีสิ่งที่แตกต่างกัน เช่น การเลือกใช้สมุนไพรต่างชนิดมาทำน้ำปู เช่น ใบตะไคร้ ใบขมิ้น ใบข่า หรือใบฝรั่ง เพราะฉะนั้นสูตรในการทำน้ำปูจึงไม่ค่อยตายตัวนัก มีการนำน้ำปูมาคลุกกับข้าวเหนียวร้อนๆ ซึ่งคนเหนือเรียกว่า บ่ายน้ำปู มีรสชาติที่อร่อยมาก นอกจากนี้ น้ำปู ยังสามารถนำมาทำอาหารได้หลายชนิด เช่น ใส่ในแกงหน่อไม้ ส้มตำ หรือตำส้มโอ ใช้ทำน้ำพริกน้ำปู ซึ่งกินร่วมกับผักได้หลายอย่าง เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ ผักกาดกวางตุ้ง แตงกวา ผักกูด กะหล่ำปลีนึ่ง หรือจะเป็นหมูทอด ปลาทอด ก็ไม่ว่ากัน ในฤดูที่มีหน่อไม้ ชาวบ้านมักนำมากินกับหน่อไม้ต้ม ทำให้บางครั้งเรียกน้ำพริกน้ำปูกับหน่อไม้ต้มนี้ว่า น้องนาบ้านนาและเทพธิดาดอย จะอยู่ในช่วงหลังสงกรานต์ หรือปีใหม่เมืองเป็นต้นไป ซึ่งราคาก็จะขยับสูงขึ้นนิดหนึ่ง เนื่องจากใช้ระยะเวลาเก็บไว้นาน          ก็เหมือนฝากเงินในธนาคารย่อมมีการบวกอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย น้ำปู นั้นจัดว่าเป็นอาหารที่มีจุดอ่อนเช่นเดียวกับอาหารพื้นบ้านประเภทอื่น เช่น มีความเชื่อว่าน้ำปูนั้นเป็นของแสลงสำหรับคนที่มีเลือดลมไม่ดี ผู้หญิงบางคนเมื่อกินน้ำปูเข้าไปแล้วจะทำให้รู้สึกง่วงเหงาหาวนอน มีอาการหนาว ปวดหัว หรือปวดกระดูกเนื่องจากน้ำปูนั้นเป็นอาหารพื้นบ้าน คนที่ทำก็เริ่มเป็นผู้สูงวัยในหมู่บ้าน จึงมีโอกาสที่จะสูญหายหากไร้ผู้สืบทอด อย่างไรก็ตาม น้ำปู ก็ยังเป็นอาหารพื้นบ้านที่น่าสนใจมาก เพราะมีรสชาติอร่อย เเละชาวบ้านสามารถผลิตได้ในครัวเรือน
การเก็บรักษานั้นก็ไม่ยาก เเละเก็บไว้ได้นาน นอกจากการทำน้ำปูแล้ว อำเภอแจ้ห่มยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ วัดพระพุทธบาทสุทธาวาส Unseen เจดีย์มหัศจรรย์บนยอดเขาสูง สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของอำเภอแจ้ห่มได้ 360 องศา วัดอักโขชัยคีรี จุดเด่นของวัดนี้คือปรากฏการณ์เงาสะท้อนพระธาตุเจดีย์เป็นภาพสีเช่นเดียวกับวัดพระธาตุจอมปิง และเงาพระธาตุเจดีย์นั้นจะปรากฏอยู่ที่เดิมตลอดทั้งวัน ตราบใดที่ยังมีแสงส่องสว่าง นอกจากนี้ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เรียกว่า “พระศากยมุณีคีรีอักโข”ซึ่งมีความสูง 5 วา 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชาวแจ้ห่มให้ความเคารพศรัทธามาก หากใครสนใจศิลปะท้องถิ่น ยังมีสัตภัณฑ์ไม่ไผ่พุทธศตวรรษที่ 25 สำหรับจุดธูปเทียนบูชาพระประธานและธรรมมาสน์ไม้ไผ่ศิลปะล้านนาซึ่งสามารถชมได้ที่หลังวิหารชมเงา วิหารเปิดเวลา 07.00-17.00 น.

เส้นทางที่ 2 แจ้ห่ม เขื่อนกิ่วลม และเมืองเถิน ชมเสน่ห์เส้นทางธรรมชาติเขื่อนกิ่วลมกับกิจกรรมล่องแพชมความงามธรรมชาติในเขื่อนกิ่วลม สัมผัสกิจกรรมปีนผ้า พายเรือคายัก ชมถ้ำและวัด ก่อนที่จะเดินทางด้วยถนนสายหลักหมายเลข 1035 ผ่านเมืองสู่อำเภอเกาะคา สักการพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำคนเกิดปีฉลู วัดไหล่หิน วัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดลำปางที่มีอายุหลายร้อยปี วัดพระธาตุจอมปิง เป็นวัดที่มีศิลปะแบบล้านนา โดดเด่นเห็นได้ชัดที่ลักษณะตัวของพระธาตุที่สวยงามอร่ามด้วยสีทอง เขาส่องกระจก หรือ ถ้ำผาบ่อง เป็นปล่องหน้าผาคล้ายกับกระจกอยู่บนดอยแก้ว ก่อนที่จะเข้าพักอำเภอเถิน อำเภอใหญ่ไกลเมืองแต่ไม่ห่างไกลใจผู้คน เริ่มจากการชมวัดเก่าแก่ วัดเวียง เป็นวัดที่สำคัญของอำเภอเถิน มีซุ้มโขงที่ได้รับอิทธิพลมาจากซุ้มโขงของวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดอุมลอง วัดดอนไชและสัมผัสความสงบเงียบและเรียบง่ายของกาดฟิน แหล่งรวมของกินยามค่ำของคนเถิน

เส้นทางที่ 3 เมืองเถิน ลี้ ลำพูน สัมผัสเส้นทางสีเขียวสู่อ้อมกอดแห่งขุนเขา สัมผัสธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เริ่มจากสัมผัสวิถีวัฒนธรรมเมืองเถินที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานเป็นจุดผ่านของศึกสงครามสมัยสมเด็จพระนเรศวรแล้วเช้าวันใหม่เราพร้อมกับการออกเดินทางสู่ อ.ลี้ จังหวัดลำพูน ในเส้นทางหลวงหมายเลข 106 สัมผัสความคดเคี้ยวของถนนสายเศรษฐกิจและเส้นทางหลักจากเชียงใหม่สู่กรุงเทพก่อนที่จะมีถนนผ่านขุนตานในปัจจุบัน เส้นทางนี้ปัจจุบันยังคงใช้สัญจรไปมาอย่างปกติ ผ่านอำเภอลี้ ตามรอยศรัทธาอารยะ 3   ครูบาล้านนาลำพูน ในเส้นทางสายนี้เริ่มจากครูบาชัยยะวงศาพัฒนาแห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้มนำชุมชน สู่หมู่บ้านรักษาศีลห้า ไม่เบียดเบียนสัตว์ มีวัดพระบาทห้วยต้มและมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยเป็น จุดศูนย์รวมจิตใจ ทุกวันที่ 16 พฤษภาคมจะมีศิษยานุศิษย์และชาวปะกาเกอญอจากทุกสารทิศมาร่วมพิธีเปลี่ยนผ้าครองสรีระ จุดถัดไปจะเป็นจุดชมวิวเมืองลี้มุมสูงและสักการะครูบาอภิชัยขาวปี ระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม ของทุกปี พุทธศาสนิกชนชาวลำพูน และจังหวัดใกล้เคียงต่างพากันเดินทางไปร่วมพิธีเปลี่ยนผ้าครองสรีระ “ครูบาอภิชัยขาวปี” ที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน จากศิษย์สู่ตนบุญแห่งล้านนา “ครูบาศรีวิชัย” พระเถระชาวจังหวัดลำพูน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย จนได้รับการขนานนามว่า ตนบุญแห่งล้านนา