รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิต สถิติภาคเหนือเฉลี่ยทุกๆ 2 วันมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3 คน

Social Share

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิต สถิติภาคเหนือเฉลี่ยทุกๆ 2 วันมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3 คน ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ทำให้ฆ่าตัวตายมากที่สุด และผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง

ช่วงเย็นวันที่ (5 พ.ย. 62) นายแพทย์ สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นปรธานเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2562 และการแถลงข่าว “ซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากแค่ไหนในภาคเหนือ?” โดยมีแพทย์หญิง สุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง พร้อมด้วย นายแพทย์ ปริทรรศ ศิลปกิจ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิโรงพยาบาลสวนปรุง, ผศ.ดร.สมบัติ สกุลพรรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์ เชียงใหม่ และประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาโท สาขาพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชยีงใหม่ และนักร้องชื่อดัง “ลานนา คัมมินส์” เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสวนปรุง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการจัดงานในครั้งนี้ที่บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น 3 (หน้าลิฟท์แก้ว) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ภายหลังการแถลงข่าวก็ได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “สุขภาพจิตไทย…ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : ฟังกันวันละสิบ (ฟังด้วยหัวใจใครๆ ก็ช่วยกันได้)” ด้วย

นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 1-7 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2532 เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนหันมาสนใจส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตร่วมกัน สำหรับแนวคิดการจัดงานในปีนี้กรมสุขภาพจิตได้กำหนดขึ้นว่า “สุขภาพจิตไทย…ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และข้อความที่ใช้สื่อคือ “ฟังกันวันละสิบ” โดยหมายความว่าให้คนไทยทุกๆ คนสนใจและใส่ใจที่จะรับฟังซึ่งกันและกันมากขึ้น เพราะการรับฟังเป็นรากฐานสำคัญเบื้องต้นของการช่วยเหลือปัญหาด้านจิตใจ สำหรับ “ฟังกันวันละสิบ” นั้นกล่าวคือเชิญชวนให้บุคคลในครอบครัวที่ทำงานและสังคมฟังกันวันละ 10 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 10 นาที หากทำได้เช่นนี้เราจะรับรู้และเข้าใจปัญหาซึ่งกันและกันจะนำมาสู่การช่วยเหลือด้านจิตใจและส่งต่อถึงแหล่งบริการรักษาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์รวดเร็วต่อไป

นอกจากนั้น นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้น เกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดจนตายและมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าและปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้รณรงค์ตลอดมา และการที่รณรงค์ให้คนไทยรับฟังกันมากขึ้นนั้นก็เพราะการรับฟังเป็นรูปแบบหนึ่งของการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญของการช่วยเหลือด้านจิตใจอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายล่าสุดในประเทศไทยพบข้อมูลทางสถิติโดยภาพรวมคืออัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศไทยอยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรแสนคน โดยในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 4,137 คน เพศชาย 3,327 คน คิดเป็นร้อยละ 80 และเพศหญิง 840 คิดเป็นร้อยละ 20 เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า และเฉลี่ยมีผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตเดือนละ 345 ราย เมื่อวิเคราะห์สถิติการฆ่าตัวตายตามช่วงวัยพบว่าวัยแรงงาน (อายุ 25-59 ปี) เป็นวัยที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดคือร้อยละ 74.7 , วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 22.1 และวัยเด็ก (อายุ 10-24 ปี) ร้อยละ 3.2

สำหรับสาเหตุการฆ่าตัวตายนั้น เกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7 สาเหตุจากความรักหึงหวง ร้อยละ 22.9 สาเหตุต้องการคนดูแลเอาใจใส่ ร้อยละ 8.36 สาเหตุจากปัญหาด้านการใช้สุราและสารเสพติดพบว่ามีปัญหาจากการ ดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตัวเอง ร้อยละ 6 ปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิตพบว่าเกิดจาก ป่วยด้วยโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ ร้อยละ 12

นอกจากนั้น แพทย์หญิงสุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ยังให้สัมภาษณ์ต่ออีกว่า สำหรับสถิติการฆ่าตัวตายในเขตสุขภาพที่ 1 คือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อันประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ในปีงบประมาณ 2561 พบว่า มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 609 รายคิดเป็นอัตราการฆ่าตัวตาย 10.95 ต่อแสนประชากร หรือเฉลี่ยใน 2 วันจะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3 คน โดยพบว่าเพศชายฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิง 3.7 เท่า จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดคือ แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 17.55 คนต่อแสนประชากร น้อยที่สุดคือจังหวัดลำพูน ร้อยละ 6.44 คนต่อแสนประชากร ส่วนจังหวัดที่มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด คือ เชียงใหม่ จำนวน 165 คน และน้อยที่สุด คือ ลำพูน 26 คน ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ วัยทำงาน (อายุ 40-59 ปี) ร้อยละ 37 และพบอีกว่าผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไปมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ร้อยละ 26

สาเหตุการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 50 เกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด อารมณ์หุนหันพลันแล่นและปัญหาภายในครอบครัว และร้อยละ 30 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับการดื่มสุรา (ติดสุรา/มึนเมาขณะฆ่าตัวตาย) โดยพบว่า ร้อยละ 77.2 ฆ่าตัวตายด้วยวิธีการแขวนคอ รัดคอ และทำให้หายใจไม่ออก รองลงมา ร้อยละ 13.5 ฆ่าตัวตายด้วยวิธีใช้ยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์

แพทย์หญิงสุวรรณี กล่าวอีกว่า สำหรับในเขตภาคเหนือโรงพยาบาลสวนปรุง กำหนดจัดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติขึ้น ในวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2562 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ ภายในงานมีกิจกรรม การเสวนา นิทรรศการความรู้สุขภาพจิต ประเมินภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความฉลาดทางอารมณ์ ภาวะติดสุรา บริการปรึกษาสุขภาพจิตเบื้องต้นทุกวัย แนะนำอาหารต้านเศร้า สมุนไพร วิธีผ่อนคลายความเครียด จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผู้ป่วยจิตเวช รับสื่อความรู้สุขภาพจิต และเล่นเกมรับของรางวัล

นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมกันรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตายให้ลดลง ด้วยการสอดส่องมองหาผู้ที่คิดจะทำร้ายตัวเองและส่งสัญญาณเตือนที่จะทำร้ายตัวเอง พร้อมทั้งมั่นใส่ใจรับฟังด้วยความเข้าใจเห็นใจ จากนั้นให้เชื่อมโยงส่งต่อไปยังสถานบริการสุขภาพใกล้บ้าน เพื่อที่จะได้ทำการช่วยเหลือกันอย่างทันท่วงทีต่อไป หากคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเช่นนี้ก็จะร่วมกันป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้ดียิ่งขึ้น