วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

(คลิป) ศปอส.ภาค 5 บุกรวบหนุ่มวิศวกรรมคอมฯ แก๊งสกิมเมอร์ในโรงแรมย่านสันผีเสื้อเชียงใหม่

29 มิ.ย. 2020
1083
Social Share

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 รวบ “มูฮาหมัดอาซิค” เรียนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หนึ่งในแก๊งสกิมเมอร์ จับได้ในโรงแรมชื่อดังของเชียงใหม่ ยึดของกลางได้เพียบ สารภาพหากทำได้จะได้ส่วนแบ่งถึง 45 เปอร์เซ็นต์

29 มิ.ย. 63 : ที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผบช.ภ.5 ได้แถลงข่าวการจับกุมตัว นายมูฮาหมัดอาซิค บูดีนซ่าราวเตอร์ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 75 ซอยสารภี 2 ถ.อิสรภาพ แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม.ฯ เครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ยี่ห้อ ACER รุ่น Aspire E 14 สี ดำ หมายเลขประจำเครื่อง จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Samsung รุ่น Galaxy A7 สีทอง จำนวน 1 เครื่อง เครื่องคัดลอกข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1 เครื่อง บัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้บันทึกข้อมูล จำนวน 7 ใบ เครื่องรูดบัตร ธนาคารกรุงเทพ จำนวน 1 เครื่อง ใบเสร็จธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 1 ชุด ในข้อกล่าวหา “ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด อันได้มาโดยรู้ว่าเป็นของที่ทำปลอมหรือแปลงขึ้น” ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.269/1 และ 269/4

พฤติการณ์ในการจับกุม ด้วยศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 (ศปอส.ภ.5) ได้รับแจ้งว่ามีชายต้องสงสัยคล้ายชาวต่างชาติ มาติดต่อขอใช้งานเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยเสนอให้ค่าตอบแทนในการรูดบัตรเป็นเงินจำนวนมาก เชื่อว่าจะเป็นแก็งสกิมเมอร์ชาวต่างชาติที่มากระทำผิดในประเทศไทย ซึ่งขณะมาเข้าพักลูกค้ารายนี้ได้ขนสิ่งของคล้ายเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในห้องด้วย โดยมักจะซื้อข้าวมากินในห้องและไม่ออกไปไหน ซึ่งผิดวิสัยกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ โดยบุคคลดังกล่าว ได้พักอยู่ห้องพักเลขที่ 310

ต่อมา วันที่ 27 มิ.ย.63 เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่โรงแรมไลฟ์แกรนด์เชียงใหม่ หมู่ที่ 5 ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเข้าตรวจสอบห้องพักเลขที่ 310 พบชายชาวต่างชาติทราบชื่อภายหลังว่านายมูฮาหมัดอาซิค (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี เรียนจบทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากประเทศอินเดีย ก่อนจะเดินทางมาอยู่ประเทศไทย พร้อมของกลางคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และบัตรเครดิตอยู่จำนวนมาก วางไว้บริเวณบนโต๊ะภายในห้องและกำลังนั่งโคลนนิ่งบัตรและรูดเงินออกจากบัตร

จากการสอบถามนายมูฮาหมัดอาซิคฯ รับว่าตนมาพักที่ห้องดังกล่าวเพื่อโคลนนิ่งบัตรและรูดเงินออกจากบัตรจริง โดยก่อนหน้านี้ได้รับการชักชวนจากนายอ้วน (ไม่ทราบชื่อสกุลจริง) ซึ่งเป็นเพื่อนของนายพิเชษฐ์ (ขอสงวนนามสกุล) ให้มาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการการรูดเงินจากบัตรที่ถูกสกิมเมอร์ โดยจะได้รับค่าตอบแทนจำนวน 45 เปอร์เซ็น จากเงินที่สามารถรูดจากบัตรได้ ลักษณะงานกล่าวจะมีกระบวนการ คือ มีชายชาวอินเดียชื่อว่า Mr.Sriva จะส่งข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นลักษณะส่งเป็นตัวอักษรหรือตัวเลขพร้อมสัญลักษณ์จำนวน 36 หลัก มาให้ผ่านทางโปรแกรม What’s app จากนั้นจะทำการคัดลอกหมายเลขดังกล่าว ไปยังแอพพลิเคชั่น MSR ในโทรศัพท์มือถือ แล้วใช้โทรศัพท์ดังกล่าวเชื่อมต่อบลูทูธไปยังเครื่องคัดลอกข้อมูล เพื่อคัดลอกข้อมูลลงในบัตรที่เตรียมไว้ (โคลนนิ่งบัตร)

ต่อมาก็จะนำบัตรดังกล่าวไปรูดกับเครื่องรูดบัตรเครดิต เมื่อทำรายการเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งบิลจากการทำรายการให้นายอ้วน และนายพิเชษฐ์ฯ ดูก่อน เมื่อเงินเข้าแล้วจะได้รับค่าตอบแทนจำนวน 45 เปอร์เซ็น จากยอดเงินจะโอนเงินค่าส่วนแบ่งมาให้ ซึ่งตนก็จะส่งให้กับ Mr.Sriva ชาวอินเดีย ในรูปแบบของบิทคอย จำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์จะเป็นค่าทำงานของตนเอง ซึ่งยังไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด ก่อนถูกจับกุม นายมูฮาหมัดอาซิคฯ ได้เดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63 โดยได้ทำการรูดเงินออกจากบัตรแล้วทั้งหมด 60 รายการ ได้ยอดเงินรวม 364,900 บาท (แยกเป็นรายละเอียด วันที่ 26 มิ.ย.63 จำนวน 35 รายการ เป็นเงิน 128,400 บาท วันที่ 27 มิ.ย.63 จำนวน 25 รายการ เป็นเงิน 236,500 บาท ) และผู้เสียหายส่วนมากเป็นชาวอเมริกาและแคนาดา

ตำรวจภูธรภาค 5 ขอประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกสกิมมิ่งข้อมูลจากบัตร มีรายละเอียดดังนี้ 1. สังเกตความผิดปกติของช่องเสียบบัตรของเครื่อง ATM ที่ใช้บริการ ก่อนที่จะเสียบบัตรจะต้องมีไฟกะพริบล้อมรอบช่องเสียบบัตรทุกครั้ง ดังนั้นหากไม่มีไฟกะพริบปรากฏขึ้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีเครื่องดูดข้อมูล ให้รีบแจ้งธนาคารโดยด่วน 2. สังเกตความผิดปกติของแป้นพิมพ์ อาทิเช่น แป้นพิมพ์อาจจะดูหนากว่าปกติ หากพบความผิดปกติอห้ามเสียบบัตรเด็ดขาด 3. ระหว่างการใช้เครื่อง ATM ควรยืนประชิดกับตัวเครื่อง และใช้มือบังป้องแผงคีย์บอร์ด ในขณะที่ใส่รหัสบัตรเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเห็น และป้องกันการบันทึกภาพ