วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

อุทยานวิทย์ มช. จับมือ DITP และ NEA ปั้นสตาร์ทอัพภาคเหนือแข่งขันตลาดโลก พุ่งเป้า 1 ใน 5 อาเซียนภายในปี 64

Social Share

13 ส.ค. 63 : นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup ภูมิภาคเหนือ “RISING NORTHEN STARTUP : Startup ถิ่นเหนือไทย ก้าวไกลสู่สากล” เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup ของภาคเหนือ เตรียมความพร้อมแข่งขันต่อยอดสู่การเติบโตในตลาดสากล อันเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยมี นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีเปิดโครงการฯ ณ พื้นที่สร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจ The Brick X @nsp อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงที่มาโครงการฯ ว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการ startup เพื่อขยายตลาดภูมิภาคสู่ตลาดสากล โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจพร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมส่งออก จึงร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการและ startup พัฒนาธุรกิจด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเร่งศักยภาพของผู้ประกอบการระดับภูมิภาคให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้ายุคใหม่ สอดรับกับแนวคิด Thailand 4.0 โดยผลักดันให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้นผ่านการกำกับดูแลของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่

 

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คือ ความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็น 1 ใน 5 ของอาเชียน ภายในปี 2564 โดยมีภาระกิจหลักคือการส่งเสริมการส่งออก ขยายตลาด สินค้าและธุรกิจบริการของไทย พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและธุรกิจบริการส่องออก ให้บริการการค้าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มี 4 แนวทาง ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) คือการพัฒนาผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมส่งออก โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven) และการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมส่งออก (Value Creation) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการของไทยให้มีความพร้อมด้านการค้า เสริมสร้างศักยภาพในการทำการค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการ ผ่านการสร้างแบรนด์ (Brand) และการพัฒนานวัตกรรม (Innovation)

นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ (NEA) กล่าวว่า NEA เป็นองค์กรชั้นนำในการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาองค์ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในเวทีการค้ายุคใหม่ ประกอบกับแนวคิด Thailand 4.0 มุ่งเน้นการใช้ระบบเทคโนโลยีนวัตกรรม การบริการ และความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ นำไปสู่การสร่ง S-Curve ใหม่ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่สมดุลของการพัฒนาละก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง พัฒนาศักยภาพแรงงานไทยในทุกระดับให้มีความพร้อมใน การดำเนินธุรกิจ ในโลกการค้ายุคใหม่ทั้งเกษตรกรวิสาหกิจ ขนาดกลาง และขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจการค้าภาคบริการผ่านกระบวนการของ NEA ไม่ว่าจะเป็นการอบรม การสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน การสร้างเครือข่ายทางการค้า เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีศัยภาพในการเติบโตแบบก้าวกระโดด

โครงการฯ นี้มีกำหนดจัดต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม 2563 ณ The Brick X @nsp อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นผู้ประกอบการ startup ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกร่วมโครงการทั้ง 40 ราย จะได้รับโอกาสรับฟังบรรยาย ร่วมกิจกรรม workshop รวมถึงเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดกับ Startup แนวหน้าของประเทศไทยและจากต่างประเทศอย่างเข้มข้นรวมเวลากว่า 18 ชั่วโมง พร้อมร่วมแสดงศักยภาพพัฒนาทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจผ่านกิจกรรม Pitching เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการ startup 3 รายที่ฉายแววโดดเด่นในด้านทักษะการนำเสนอ ความน่าสนใจของแผนธุรกิจเพื่อการลงทุน และศักยภาพความพร้อมในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ รับรางวัลใน 3 ด้าน ได้แก่ Best Pitching, Investor Choice และ Scale up Award ตามลำดับ โดยผู้ประกอบการที่รับรางวัลจะได้รับโอกาสสำคัญในการร่วมงานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมจัดแสดงผลงานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในระดับสากล

 

ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า อุทยานฯ มีกลไกการให้บริการที่หลากหลายในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับ Startup อุทยานฯ มีกระบวนการสร้างความเป็นผู้ประกอบการทั้งจากเด็กนักศึกษา มีการจัดประกวดแข่งขันแผนธุรกิจ เช่น โครงการ R2M (Resource to Market), โครงการ Startup Thailand League ฯลฯ โดยในส่วนของผู้ประกอบการ มีโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือ เช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งดำเนินงานภายใต้กรอบของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งความร่วมมือในโครงการนี้นับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ Startup ที่มีศักยภาพและความพร้อมของภูมิภาคได้ขยายตลาดสู่ระดับสากล โดยหวังว่าผลผลิตนวัตกรรมจากโครงการนี้จะเชื่อมโยงสู่ตลาดต่างประเทศพร้อมช่วยยะระดับเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง