วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

(คลิป) กระทรวงศึกษาจัดสัญจรที่เชียงใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักเรียน

Social Share

ปลัดกระทรวงศึกษา สัญจรเชียงใหม่ รับฟังปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักเรียน

วันที่ 20 มีนาคม 2564 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการกระทรวงศึกษาธิการสัญจร เพื่อปฏิบัติภารกิจลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดย นายชาตรี ม่วงสว่าง ศึกษาธิการภาค 15 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ณ สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 จังหวัดเชียงใหม่

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การมาสัญจรที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมาพบปะพูดคุยกับทุกท่าน เพื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังสภาพปัญหาจากผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในการนำนโยบายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

การจัดการศึกษาในวันนี้ มีความท้าทายเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชากรวัยเรียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหานักเรียนออกกลางคัน และการเลือกทำงานหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กต้องมีการควบรวมหรือยุบเลิกตามไปด้วย การบูรณาการด้านการศึกษาของจังหวัด จึงเป็นนโยบายสำคัญในการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชุมชนในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนและเป็นแรงสนับสนุนร่วมพัฒนาโรงเรียนให้เติบโตไปตามความต้องการและบริบทของชุมชน

การเดินหน้าขับเคลื่อนและสานต่อนโยบายการบูรณาการด้านการศึกษาของจังหวัดให้มีความต่อเนื่องและให้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมต่อสาธารณชน จึงเป็นภารกิจสำคัญของพวกเราทุกคนที่ต้องผนึกกำลังกับหลากหลายภาคส่วนของชุมชนในการร่วมผลักดันและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนคุณภาพของชุมชนให้มีความเข้มแข็งบนความแตกต่างที่หลากหลาย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้คัดเลือกโรงเรียน 3 รูปแบบ 349 โรงเรียน เพื่อพัฒนาให้เห็นผลอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพของชุมชน 183 โรงเรียน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง 77 โรงเรียน และโรงเรียน Stand Alone 89 โรงเรียน และคัดเลือกโรงเรียนนำร่องที่สามารถเป็นต้นแบบใน 5 ภูมิภาค 15 โรงเรียน เพื่อให้เขียนโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนของตนเองเป็นการเฉพาะ ในวงเงินงบประมาณไม่เกิน 2,000,000 บาท

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวสำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้มีโรงเรียนที่มีคุณภาพกระจายอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ทุกหน่วยงานจะต้องทำงานในเชิงระบบร่วมกัน เพื่อทำให้คุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของนักเรียน