วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

แม่โจ้โพลล์ สำรวจพบเกษตรกรไทย ร้อยละ 74.09 เป็นหนี้มากขึ้น ชี้ราคาผลผลิตตกต่ำเป็นสาเหตุก่อหนี้มากที่สุด

Social Share

30 ก.ค. 62 : ดร.วีร์ พวงเพิกศึก ผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 773 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 17 กรกฎาคม 2562 ในหัวข้อ “ภาวะหนี้สินของเกษตรกรไทย ปี 2562” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามเกษตรกรไทยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ภาระหนี้สิน สาเหตุของภาระหนี้สิน และแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเอง สรุปผลได้ดังนี้

จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2562 เกษตรกรร้อยละ 45.07 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 29.20 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 25.73 ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

จากการสอบถาม พบว่า เกษตรกรถึงร้อยละ 74.09 มีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 49.28 มีหนี้สินไม่เกิน 100,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 24.74 มีหนี้สินมากกว่า 300,000 บาท ร้อยละ 14.85 มีหนี้สินระหว่าง 100,001 – 200,000 บาท และร้อยละ 11.13 มีหนี้สินระหว่าง 200,001 – 300,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.26 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 24.10 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลา 6 – 10 ปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 9.64 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลามากกว่า 10 ปี

ส่วนภาระหนี้สินในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรร้อยละ 38.77 มีภาระหนี้สินไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 35.11 มีภาระหนี้สินมากขึ้น มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 26.12 ที่มีภาระหนี้สินลดลง

ในส่วนของแหล่งเงินกู้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 62.61 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รองลงมา ร้อยละ 42.43 กู้ยืมเงินมาจากกองทุนหมู่บ้าน ร้อยละ 12.81 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 12.68 กู้ยืมเงินมาจากสหกรณ์ ร้อยละ 8.67 กู้ยืมเงินมาจากญาติพี่น้อง และร้อยละ 5.69 กู้ยืมเงินมาจากแหล่งเงินกู้ นอกระบบ ตามลำดับ

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณหนี้สิน พบว่า เกษตรกรมีความเห็นว่าการที่ราคาผลผลิตตกต่ำเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาระหนี้สิน ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเอง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.54 ได้ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น พืชที่ใช้น้ำน้อย รองลงมา ร้อยละ 45.28 ได้ทำการวางแผนควบคุมการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ เช่น การจัดทำบัญชีครัวเรือน ร้อยละ 42.04 จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐบาล เช่น โครงการยกระดับรายได้ของเกษตรกร โครงการพักชำระหนี้ ร้อยละ 35.83 ได้รวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุน หรือสร้างอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ และร้อยละ 33.89 ได้ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยง โดยเน้นพืช/สัตว์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าภาระหนี้สินของเกษตรกรเป็นปัญหาที่เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวนอกจาก ภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว อีกทั้งสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ควรพิจารณานโยบายการให้สินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่อในรูปของสินเชื่อกลุ่มเกษตรกร แทนการให้สินเชื่อรายบุคคล เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มอีกทางหนึ่ง และจะต้องแก้ไขที่ตัวเกษตรกรเองด้วย เช่น การวางแผนควบคุมรายจ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ การปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกและสัตว์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ และการรวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุนหรือสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น

สำหรับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้เก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 25.81 ภาคกลาง ร้อยละ 37.61 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.94 ภาคตะวันออก ร้อยละ 7.00 และภาคใต้ ร้อยละ 10.64 โดยผลสำรวจของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม เป็นเพศชาย ร้อยละ 47.93 เพศหญิง ร้อยละ 51.92 และเพศทางเลือก ร้อยละ 0.15 ส่วนช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม อายุไม่เกิน 40 ปี ร้อยละ 22.62 อายุ 41 – 50 ปี ร้อยละ 31.60 อายุ 51 – 60 ปี ร้อยละ 32.14 และ อายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 13.64 ประเภทของเกษตรกรรมของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยให้ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ร้อยละ 48.00 พืชไร่อื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ร้อยละ 19.92 พืชผัก เช่น ผักกาด พริก หอมแดง กระเทียม ร้อยละ 13.71 ไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 19.02 ไม้ผล เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วง ร้อยละ 20.70 และปศุสัตว์ เช่น สุกร โค ไก่ ร้อยละ 8.02