วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

กรมอุทยานฯ กิจกรรมเราทำความดีด้วยหัวใจ ฟื้นฟูสภาพป่า นำร่อง “ดอยเชียงดาวโมเดล” ทำป่าเปียกแห่งแรกในภาคเหนือ

Social Share


อธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เปิดกิจกรรมเราทำความดีด้วยหัวใจ ฟื้นฟูสภาพป่าดอยเชียงดาวโมเดล หลังถูกไฟป่าไหม้อย่างหนัก และเป็นการทำป่าเปียกแห่งแรกของภาคเหนือ พร้อมห่วงสุขภาพเจ้าหน้าที่หลังดับไฟป่าแล้วเสียชีวิตหลายราย เตรียมถอดบทเรียนแก้ปัญหาหลังพบว่าปีนี้ไม่ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้

28 เม.ย. 62 : นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางไปพบปะและเยี่ยมกำลังพล พร้อมปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และได้มอบน้ำดื่ม อาหาร ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงาน มีแพทย์จากโรงพยาบาลลานนาเข้ามาตรวจสุขภาพให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเพื่อให้พร้อมปฏิบัติงานมากที่สุด

ต่อมา นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) นาย ชัชวาลย์ พุทธโธ นายอำเภอเชียงดาว พ.อ.อโณทัย ชัยมงคล รอง ผบ.มทบ.33 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ รวมถึงภาคประชาชน ผู้นำชุมชน และกลุ่มจิตอาสา จำนวนประมาณ 500 คน ได้จัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ร่วมมือ ร่วมใจ ฟื้นฟูสภาพป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว (ดอยเชียงดาวโมเดล) ที่หน่วยพิทักษ์ป่าสบห้วยผาตั้ง-นาเลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่

พร้อมร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” และออกปฏิบัติงานทำกิจกรรมฟื้นฟูสภาพป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยใช้แนวทางโครงการพระราชดำริ “ป่าเปียก” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการทำ “ป่าเปียก” แห่งแรกในภาคเหนือ และจะมีการขยายออกไปให้ครอบคลุมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือในอนาคต

 

ภายในกิจกรรมมีการดำเนินการจัทำฝายผสมผสาน 5 แห่ง และฝายการ์เบี้ยน 5 แห่ง รวมทั้งหมด 10 แห่ง การทำความสะอาดแนวกันไฟ 3 กิโลเมตร มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านวิชาการ และสาธิตการปลูกต้นกล้วย โดยโครงการฟื้นฟูสภาพป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว (ดอยหลวงเชียงดาวโมเดล) นี้ ในระยะเร่งด่วนกำหนดให้มีระยะดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน – พฤษภาคม 2562 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เป็นอย่างดี ทั้งในระยะยาวจะได้มีการส่งเสริมเรื่องการมีส่วนร่วม และคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบๆ พื้นที่ เพื่อป้องกันไฟป่าอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปีนี้พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาเรื่องไฟป่าค่อนข้างจะเยอะ และสูญเสียบุคลากรทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและจิตอาสา จำนวนหลายราย ซึ่งภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะที่ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ ความเสียหายค่อนข้างสูง จึงได้จัดกิจกรรม “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อเป็นการฟื้นฟูดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้

วันนี้เป็นการเปิดตัวครั้งแรกของโครงการฟื้นฟูดอยหลวงแห่งนี้ และในอนาคตก็มีการสำรวจตลอดทั้งแนวว่าควรจะทำฝายเท่าไหร่ รวมทั้งการปลูกต้นกล้วย ปลูกพืชในป่า เพื่อรักษาความชุ่มชื้นตามแนวทางโครงการพระราชดำริ “ป่าเปียก” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนหนึ่งได้นำงบประมาณมาจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สนับสนุนงบ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือ

จากการลงพื้นที่ติดตามข้อมูลทั้งจังหวัดเชียงราย, แพร่, น่าน และจังหวัดเชียงใหม่ ปีนี้ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ต้องมาถอดบทเรียนแล้วว่า ปัญหาที่เกิดไฟป่าขึ้นจำนวนมากในปีนี้มาจากอะไร แล้วมาวางแผนป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรามองว่าเรามาถูกทาง แต่มาในปีนี้จากวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้มองว่าแผนป้องกันที่วางไว้ไม่ใช่ บางส่วน บางกิจกรรมต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

สำหรับเจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟป่าที่ได้ดึงมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง รวมทั้งภาคเหนือตอนล่าง มาช่วยในการดับไฟในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ทำให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตอาสาเสียชีวิต บางคนเสร็จภาระกิจกลับบ้านไปคิดว่า สุขภาพร่างกายตนเองแข็งแรง เมื่อกลับถึงบ้าน 1 – 2 วันแล้วเสียชีวิตกระทันหัน ท่านรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้สั่งการมาที่กรมอุทยานฯ หลังจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าเสร็จสิ้น หรือยังไม่เสร็จสิ้น ให้นำเจ้าหน้าที่มาตรวจสุขภาพ โดยความร่วมมือจากโรงพยาบาลในพื้นที่ และโรงพยาบาลเอกชนที่ให้ความร่วมมือ เพื่อจะได้รู้ถึงสภาพร่างกายของเจ้าหน้าที่ว่าใครมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน หากใครไม่มีความพร้อมก็ให้พักรักษาตัว หรือปรับเปลี่ยนหน้าที่ บทบาท จากหน้าที่ดับไฟ ก็ให้ไปปฏิบัติงานด้านล่างแทน

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ก็ใกล้กำหนดที่จะพ้น 61 ห้ามเผาที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดไว้แล้ว เหลืออีกเพียง 2 วันเท่านั้น แต่ก็มีบางพื้นที่ได้มีจุดความร้อมเพิ่มขึ้น ตอนช่วงใกล้หมด 61 วันห้ามเผา ก็มีที่อำเภอแม่แจ่ม เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และในวันที่ 29 เม.ย. 62 ก็ได้เรียกประชุม เพื่อจะสรุปภาพรวมของการทำงานในช่วง 61 วันอันตราย และประเมินผลการทำงาน ตอนนี้ต้องจัดการคุมเข้มให้ได้ แล้วถอดบทเรียนออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไรในระยะยาวต่อไป

เรื่องมาใหม่