วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

“เห็ดถอบ” เพาะได้แล้ว ไม่ต้องเผาป่า ม.แม่โจ้ ร่วมกับ มช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดวิธีเพาะจนสำเร็จ

Social Share

เห็ดถอบเพาะได้แล้ว ไม่ต้องเผาป่า ม.แม่โจ้ ร่วมกับ มช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดวิธีเพาะจนสำเร็จ ลูกใหญ่กว่าเห็ดถอบป่า 3 – 4 เท่า

18 ตค.2562 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองชัย จูวัฒนสำราญ คณบดีคณะผลิตกรรมการเกษตร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และทีมศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ ให้การต้อนรับ นายคมสันต์ สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสเข้าชมผลการดำเนินงาน โครงการ “เห็ดป่าคืนถิ่น สร้างป่า สร้างรายได้ สลายฝุ่น” ณ อาคารรัตนโกสินทร์ 200 ปี คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

โครงการ “เห็ดป่าคืนถิ่น สร้างป่า สร้างรายได้ สลายฝุ่น” เป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ ได้ทำการวิจัยและทดลองจนสามารถเพาะเห็ดเผาะ ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สภาหอการค้าเชียงใหม่ และกลุ่มผู้เพาะเห็ด ในการร่วมกันทำการวิจัยและทดลองการเพาะเชื้อเห็ดเผาะและเห็ดป่าชนิดต่างๆ จนได้เห็ดเผาะคุณภาพ มีรสชาติดี มีขนาดเม็ดใหญ่กว่าเห็ดเผาะในป่าธรรมชาติทั่วไป เตรียมพัฒนาต่อยอดส่งเสริมให้กับเกษตรกรและชุมชนต่อไป ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร ลดการเผา ลดฝุ่นควัน ส่งเสริมการดูแลรักษาป่า และรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน

สำหรับวิธีการเพาะเห็ดเผาะ หรือภาคเหนือเรียกว่า “เห็ดถอบ” นั้น เมื่อได้เห็ดเพาะมาแล้ว จะต้องนำไปตากเพื่อแยกสปอร์เห็ด เมื่อได้สปอร์เห็ดหรือเรียกว่า หัวเชื้อแล้ว ขั้นตอนที่สองก็นำไปปั่นรวมกับน้ำ แล้วพักไว้เป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะนำน้ำที่ผสมหัวเชื้อเห็ด ไปรดลงบนรากไม้ ซึ่งจากการทดสอบพบว่า จะเป็นไม้ในตระกูลไม้ยาง หรือรากไม้ต่างๆ ที่เชื้อเห็ดสามารถเติบโตได้ ซึ่งข้อดีของการเผาะเห็ดเพาะนั้น จะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ที่สำคัญจะได้ไม่ต้องเผาป่าตามความเชื่อว่า เห็ดเพาะไม่สามารถปลูกได้ ถ้าอยากได้ต้องเผาป่าให้เกิดเชื้อเห็ดเท่านั้น ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จและไม่ต้องเผาป่าอีกแล้ว

ข้อดีของการเพาะเห็ดเผาะไม่ใช่แค่ลดการเผาป่าเพื่อให้ได้เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบเท่านั้น แต่ตัวหัวเชื้อเห็ดที่ถูกรดลงไปในรากต้นไม้ ยังช่วยย่อยสลายสารอาหารฟอสฟอรัส ทำให้รากของต้นไม้มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรคอื่นๆ ที่จะมาทำลายรากต้นไม้อีกด้วย เรียกว่าเป็นประโยชน์ที่เกื้อหนุนกัน และประชาชนก็ได้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่ได้ผลผลิตเพียงปีเดียว แต่ประชาชนที่เพาะเห็ดเผาะด้วยวิธีนี้ ก็ไม่ต้องเสียแรงเดินเข้าไปในป่าระยะไกล และยังมีเห็ดเผาะให้เก็บได้ทุกๆ ปี แล้วสิ่งสำคัญอีกข้อคือ เห็ดเผาะที่ได้นั้น มีขนาดใหญ่กว่าเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบที่ขึ้นอยู่ตามป่า 3 – 4 เท่าอีกด้วย

ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สันต์ชัย มุกดา หัวหน้าฐานเรียนรู้เห็ดแม่โจ้ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 089 – 5542325