วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

รถกำจัดหมอกควัน “ไพโรไลซิส” ต้นแบบ พลิกเศษวัสดุเป็นถ่านชีวภาพ ลดค่าก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4 เท่า

Social Share

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ศึกษาวิจัยการนำวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในรูปของเชื้อเพลิงพลังงานร่วมกับถ่านหิน จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ซังข้าวโพด ไม้สับ และเหง้ามันสำปะหลัง สามารถผลิตชีวมวลได้ปริมาณ 50 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และถ่านชีวภาพได้กว่า 600 กิโลกรัมต่อวัน มีต้นทุนการผลิตราว 10 – 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของกระบวนการผลิตและชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ช่วยประหยัดพลังงาน และช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.แม่แจ่ม

การแปรรูปด้วยกระบวนการไพโรไลซิส เป็นกระบวนการสลายตัวด้วยความร้อนในสภาวะไร้อากาศในช่วงอุณหภูมิสูงประมาณ 600-800 องศาเซลเซียส กลายเป็นถ่านชีวภาพที่อุดมไปด้วยคาร์บอน สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับถ่านหิน แต่ปล่อยมลพิษที่ต่ำกว่าการใช้ถ่านหิน ขณะที่ถ่านชีวภาพยังมีโพรงออกซิเจนภายในนำไปบดย่อยใช้ปรับปรุงคุณภาพดินได้อีกด้วย ดังนั้น การผลิตถ่านชีวภาพ จึงเป็นกระบวนการผลิตที่ให้คุณค่าทั้งทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมลดปัญหาภาวะโลกร้อน และยังเป็นพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ที่สะอาด ลดการนำเข้าด้านพลังงานได้ด้วย โดยรถโมเดลต้นแบบคันนี้ เรียกได้ว่า เป็น “รถกำจัดหมอกควัน” โดยเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นถ่านชีวภาพ ลดปัญหาด้านการเผาในที่โล่ง และลดค่าก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเดิมถึง 4 เท่า

หากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่  สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5394-2007-9 ต่อ 310,311 ,091-859-4895, 091-8596548