วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

สถานีวิทยุม.ก. จับมือ ธ.ก.ส.และทรูฯให้”ซิมเกษตร”พัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลทางการเกษตรและตลาดออนไลน์สู่เกษตรกรผ่านเครือข่าย ม.ก.ทั้ง​ 4​ ภูมิภาค​นำร่องพื้นที่ภาคเหนือ

10 ก.ค. 2021
851
Social Share

สถานีวิทยุม.ก. จับมือ ธ.ก.ส.และทรูฯให้”ซิมเกษตร”พัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลทางการเกษตรและตลาดออนไลน์สู่เกษตรกรผ่านเครือข่าย ม.ก.ทั้ง​ 4​ ภูมิภาค​นำร่องพื้นที่ภาคเหนือ

5​ ก.ค.64​ -​ ผศ.อนุพร​ สุวรรณ​วาจกกสิกิจ​ ผู้อำนวยการใหญ่​สถานีวิทยุ​กระจาย​เสียง​ มหาวิทยาลัย​เกษตร​ศาสตร์​(ม.ก.)​เปิดเผยว่า​ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา​ 2019 (โควิด- 19​) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จากรายงานข้อมูลของศูนย์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข(ข้อมูล​เมื่อวันที่ 2 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อทั่วโลก จำนวน 182,214,039 คน และพบผู้ป่วยสะสมในประเทศไทย จำนวน 270,921 คน ส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่​ สุขภาพประชาชนอย่างมาก รวมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี 2563​ จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากปัญหา​โควิด-19​ ไม่ต่างจากภาคส่วนอื่นๆ ส่งผลต่อการตลาดของสินค้าเกษตรด้วย​ จากทั้งกำลังซื้อ​ การขนส่ง​ ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ​ ความต้องการซื้อลดลงจากอุปสรรค​ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างชัดเจนของภาคเหนือล่าสุดคือ​ ส้ม​ มะม่วง​ ข้าว​ และในฤดูกาลต่อไปมีผลผลิตลำไยที่เป็นพืชเศรษฐกิจ​สำคัญของภาคเหนือกำลังจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ซึ่งพบว่าผลผลิตหลายแสนตันที่กำลังออกมาเกษตรกร​กำลังวิตกผลกระทบ​ที่จะเกิดขึ้น​ จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “สถานีวิทยุเพื่อศาสตร์แห่งแผ่นดิน ให้องค์​ความรู้ด้านการเกษตร ภาษา วัฒนธรรมและบริการสาธารณะ” ได้ประสานความร่วมมือกับทางสำนักงาน​ บมจ.ทรู คอเปอเรชั่น​(สำนักงานสาขาเชียงใหม่) เพื่อร่วมกันทำโครงการนำร่องพัฒนา​คุณภาพ​ชีวิต​ให้เกษตรกร​ ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีจากสมาร์ทโฟน (Smart Phone) เพื่อเรียนรู้​การใช้งานให้เกิดประโยชน์​ต่อการจำหน่าย​สินค้าเกษตรผ่านตลาดออนไลน์ ตลอดจนให้เกษตรกรผู้ฟังและติดตามข่าวสารของสถานีวิทยุ ​ม.ก.และเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถรับฟังรายการต่างๆ ของทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศหรือรับชมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม​ต่างๆ ที่ยังขาดองค์ความรู้ทางด้านการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

ประกอบกับทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีความร่วมมือกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการถ่ายทอดความรู้วิชาการเกษตรไปสู่เกษตรกรมาต่อเนื่อง​ จึงได้ประสานขยายความร่วมมือเพื่อหารือร่วมกันจัดทำ “โครงการ (นำร่อง) สถานีวิทยุม.ก. – ธ.ก.ส. – ทรูฯ เพื่อการพัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลทางการเกษตรและตลาดออนไลน์ สู่เกษตรกรภาคเหนือตอนบนพื้นที่นำร่อง ออกอากาศทางสถานีวิทยุม.ก. เชียงใหม่พร้อมเครือข่ายม.ก. ทั้ง 4 ภูมิภาค พร้อมกันทั่วประเทศทุกแพลตฟอร์ม​ขึ้น

ด้าน นายมาโนช บัวองค์ ผอ.ธกส.ฝ่ายกิตการสาขาภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า​ ความร่วมมือดังกล่าวจะดำเนิน​การ​นำร่องในช่วงเดือนกรกฎาคม​ – สิงหาคม 2564 พร้อมประเมินผล​ ซึ่ง​ ธ.ก.ส.จะรวบรวมรายชื่อเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ผู้ผลิตลำไยเข้าร่วมโครงการฯ (นำร่อง) จำนวน 20 คนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเป็นต้นแบบขยายผลต่อไปเพราะลูกค้า​ ธ.ก.ส.มีจำนวนมาก

ขณะที่สำนักงาน​ บมจ.ทรู​ คอเปอเรชั่น (สำนักงานสาขาเชียงใหม่) โดย นางจินดาภรณ์ มะโนวรรณา ผู้จัดการทั่วไป ภาคเหนือตอนบน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า​ ทรูสนับสนุนแจกซิมเรียนฟรีที่บ้านของนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นผู้ร่วมโครงการนี้เป็น“ซิมเกษตร” และสนับสนุนวิทยากรถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น จนถึงเทคนิค​การทำตลาดออนไลน์​ ผลคาดว่าจะได้รับ คือคาดหวังให้เกษตรกร​มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสามารถนำเทคโนโลยีระบบการสื่อสารออนไลน์ เข้ามาพัฒนาทักษะความรู้ด้านวิชาการเกษตรและตลาดออนไลน์แก่เกษตรกร ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในยุคนี้และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19​ ที่เป็นผลกระทบทุกส่วนเวลานี้

ผอ.ใหญ่สถานีวิทยุ​ ม.ก.กล่าวตอนท้ายว่า โครงการนำร่องนี้นอกจากช่วยยกระดับองค์ความรู้​ให้เกษตรกร​แล้วยังเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่าง​ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงาน​ บมจ.ทรู​คอเปอเรชั่น (สำนักงานสาขาเชียงใหม่) ทั้งด้านวิชาการเกษตรและการสื่อสารเทคโนโลยีสมัย ในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่เกษตรกรผ่านแพลตฟอร์ม​ต่างๆของสถานีวิทยุ​ ม.ก.​และเครือข่ายสถานีวิทยุ​ ม.ก. ทั้ง 4 ภูมิภาคพร้อมกันและเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยบรรเทา​ผลกระทบ​ที่เกิดขึ้นด้วย อีกทั้งยังเป็นไปตามนโยบายของทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คณะผู้บริหาร ได้ตระหนักและ ให้ทางสถานี เป็นอีกแหล่งเรียนรู้​ ให้ข้อมูล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กับประชาชน.