วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

สนง.ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรฯ สงขลา นำชาวสวนทุเรียน จับมือตลาดมีโชค จัดยิ่งใหญ่งานมหากรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’63

Social Share

29 ก.ค. 63 : ที่ห้างสรรพสินค้ามีโชคพลาซ่า อำเภอเมืองเชียงใหม่ นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย นายจำเดิม ทองคำ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี นายกริชศักดิ์ เลิศวณิชย์วัฒนา ผู้จัดการบริษัทมีโชคมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมจัดงาน “มหากรรมไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ’63” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ผลไม้ภาคใต้ ปี 2563 ว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไม้ผลเขตร้อนที่สำคัญของโลก โดยภาคใต้เป็นแหล่งผลิตใหญ่รองลงมาจากภาคตะวันออก สถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในปี 2563 พบว่ามีเนื้อที่ยืนต้นรวมทั้ง 4 พืช จำนวน 1,038,208 ไร่ จำแนกเป็นทุเรียน 571,439 ไร่ มังคุด 246,258 ไร่ เงาะ74,668 ไร่ ลองกอง 145,843 ไร่ เนื้อที่ให้ผล รวม 884,792 ไร่ จำแนกเป็นทุเรียน 437,993 ไร่ มังคุด 230,826 ไร่ เงาะ 72,458 ไร่ ลองกอง 143,515 ไร่ ประมาณการผลผลิตปี 2563 รวมทั้ง 4 ชนิดประมาณ 728,027 ตัน จำแนกเป็นทุเรียน 522,101 ตัน มังคุด 125,238 ตัน เงาะ 43,374 ตัน ลองกอง 37,314 ตัน โดยไม้ผลแต่ละชนิดมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ดังนี้ ทุเรียน 1,192 กก./ไร่ มังคุด 542 กก./ไร่ เงาะ 599 กก./ไร่ และลองกอง 260 กก./ไร่ ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคม ยกเว้นลองกองออกมากในช่วงเดือนกันยายน ปีนี้ผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นประมาณ 53,000 ไร่ สำหรับ มังคุด เงาะ และลองกอง ผลผลิตโดยรวมลดลง เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างแล้งติดต่อกัน โดยพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของผลไม้ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้แล้วโดยมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว กว่า ร้อยละ 50 ยังคงมีลองกองซึ่งกำลังเข้าสู่การเก็บเกี่ยวผลผลิต

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2563 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนา การเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดัน และวางแผนบริหารจัดการผลไม้ ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลผลิต โดยใช้มาตรการเชิงรุก มีการประชุมวางแผนจัดทำข้อมูล โดยการสำรวจข้อมูลการผลิต ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และรวบรวมเป็นข้อมูลระดับภาค การคาดการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เพื่อจัดทำแผนรองรับ และรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การขอรับรองคุณภาพ มาตรฐาน GAP โดยผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) รวมไปถึงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร (ไม้ผล) และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการคุณภาพผลผลิต โดยเชื่อมโยงกับการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การจัดทำข้อมูลการผลิตต้องชัด เชื่อมโยงกับตลาดได้อย่างเหมาะสม มุ่งเป้าเกษตรกรขายได้ไม่ต่ำกว่าทุนพร้อมบวกกำไรเพิ่มอย่างน้อย 30% ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ

1) การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ การจัดการคุณภาพ ระยะก่อนการเก็บเกี่ยว มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู การจัดทำแปลงเรียนรู้ การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน GI และการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านไม้ผล เป็นต้น ส่วนในระยะเก็บเกี่ยวส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์เชื่อมโยงการผลิต การตลาดและการจัดจำหน่ายประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขาย ช่วยเหลือการขนส่ง จัดทำโครงการกรณีฉุกเฉิน และอื่น ๆ ส่งเสริมการรวมกลุ่มตั้งจุดรวบรวมผลผลิตเพื่อจัดชั้นคุณภาพตรวจสอบย้อนกลับได้ (ทุเรียน) ติดตามให้คำแนะนำเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามระบบ T&V และระยะหลังเก็บเกี่ยว ติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติ/ศัตรูธรรมชาติ/สถานการณ์การผลิต เพื่อเฝ้าระวังและปรับแผนการผลิตให้คำแนะนำการจัดการสวนทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์/เคมี เตรียมความพร้อมในฤดูกาลถัดไป ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า (ทุเรียน มังคุด) สรุป ประเมินผลและจัดทำแนวทางพัฒนาคุณภาพการผลิตทุเรียนในปีต่อไปแผนบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน กรณีเกิด Surplus ในช่วง Peak

2) การบริหารจัดการเชิงปริมาณ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทาน โดยชี้เป้าการผลิตให้ชัดเจน จัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) และเชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิตร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยจัดทำข้อมูลความต้องการทางการตลาด (Demand) ตลอดจน คพจ. ปรับสมดุลข้อมูลของอุปทานและอุปสงค์และจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับปริมาณผลผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ซึ่งมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชิงรุก ทั้งการกระจายผลผลิตในประเทศ ต่างประเทศ และการแปรรูป หลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) เริ่มคลี่คลาย เร่งส่งเสริมการตลาด เพื่อกระจายผลไม้คุณภาพไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภาคใต้ตอนล่าง ไปแล้วเมื่อวันที่ 24-26 ก.ค. 63 ณ ศูนย์การค้าเซนทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต่อเนื่องด้วยการจัดงานมหกรรมผลไม้ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 29 กค.-3 สค. 63 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้ และการประชาสัมพันธ์รถเร่ผลไม้ ระหว่างวันที่ 6-7 ส.ค. 63 ณ จังหวัดอุดรธานี เพื่อกระจายผลผลิตผลไม้คุณภาพดี ปลอดภัยจากสารพิษ มีรสชาติอร่อย จากแหล่งผลิตในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ ไปยังผู้บริโภคทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการสร้างผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น มาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่าไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ส้มโอ สละ จำปาดะ ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านรสชาติและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามบริบทของพื้นที่จึงได้ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาการ แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม และต่อยอดให้เป็นพืชที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อทำให้การผลิตไม้ผลของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เกิดการพัฒนาต่อยอดสินค้าไม้ผลได้อย่างครบวงจร ผลไม้ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของภาคใต้ ได้แก่ ทุเรียนทรายขาว ทุเรียนพวงมณียะรัง ของจังหวัดปัตตานี ทุเรียนสะเด็ดน้ำ จังหวัดยะลา ทุเรียนสาลิกา มังคุด จังหวัดพังงา สละอินโด และลองกอง จังหวัดนราธิวาส สะละ จังหวัดพัทลุง จำปาดะขวัญสตูล ส้มโอทับทิมสยาม จังหวัดนครศรีธรรมราช มังคุดในวง จังหวัดระนอง มังคุดในสายหมอก อำเภอเบตงจังหวัดยะลา มะม่วงเบา จังหวัดสงขลา เป็นต้น จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมอุดหนุนผลไม้ไทย “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” พร้อมทั้งสามารถเลือกซื้อสินค้าของเกษตรกรผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ได้ ทั้งนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รับทราบคุณค่า คุณประโยชน์ และแหล่งที่มาที่ถูกต้องของผลไม้ อัตลักษณ์ ด้วย

ดร.ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้และนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรก กล่าวถึง ผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาว่า สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ได้เริ่มมีบทบาทในการดำเนินงานทั้งในส่วนของการจัดตั้งองค์กร และการสนับสนุนทางวิชาการแก่เครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ดังนี้

  1. การประชุมคณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อระดมสมองในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสมาพันธ์ ทั้งการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งภาคใต้ การกำหนดรูปแบบโลโก้ของสมาพันธ์และจัดทำเสื้อสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เพื่อใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่บุคคลทั่วไป
  2. การยกร่างระเบียบสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยเพื่อให้ครอบคลุมสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้และภูมิภาคอื่น ๆ
  3. การเตรียมการรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการเพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าของสมาพันธ์ รวมถึงการหมุนเวียนเยี่ยมเยือนพบปะเพื่อนสมาชิกในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียน
  4. การบรรยายให้ความรู้แก่สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคใต้ในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะการวางแผนการผลิตทุเรียนคุณภาพทั้งในฤดูและนอกฤดู เทคนิคการให้น้ำเพื่อพัฒนายอดและผลให้ถูกต้องตามเวลาที่เหมาะสม การลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้เคมีเกษตรอย่างถูกต้อง เหมาะสม ตรงเวลา และราคาถูก ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากส่วนต่างที่หายไปของต้นทุนที่เกินความจำเป็น
  5. การส่งเสริมนวัตกรรมอย่างง่ายในการป้องกันการเข้าทำลายของสัตว์และแมลงศัตรูทุเรียน เช่น การใช้แผ่นป้องกันการเข้าทำลายของกระรอก ซึ่งเกษตรกรสามารถตัดแผ่นพลาสติกขนาด 30 x 30 เซนติเมตร แล้วเสียบครอบที่ขั้วผลทุเรียน จะช่วยป้องกันไม่ให้กระรอกเข้าถึงผลทุเรียนได้ หรือการวางกับดักบริเวณทรงพุ่มเพื่อล่อผีเสื้อหรือแมลงอื่น ๆ ไม่ให้ไปวางไข่ที่ผลทุเรียนได้
  6. การส่งเสริมและเป็นทีมที่ปรึกษาให้สมาชิกแปลงใหญ่ได้รวมกลุ่มวางแผนการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจร โดยทดลองดำเนินการในแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนให้เป็นแปลงใหญ่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ในการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจร ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่มีรายได้สูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และผลผลิตมีคุณภาพ ทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
  7. การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ทุเรียนภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จัดงาน “มหกรรมทุเรียนคุณภาพภาคใต้ (Durian Premium in Southern of Thailand Festival)” ในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน 2562 ณ ศูนย์การค้าจังซีลอน จังหวัดภูเก็ต และในคราวเดียวกัน ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยและบริษัท เซ็นทรัลฟู้ด รีเทล จำกัด (ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต) และเชื่อมโยงชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมลอฟ มาเนีย จังหวัดชุมพร

สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และจะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ดังนี้

ต้นน้ำ : ได้ส่งเสริมแนวคิดการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพของสมาชิก ส่งเสริมการวางแผนการผลิตเพื่อตอบโจทย์การตลาด (แผนธุรกิจการเกษตร) ส่งเสริมการเรียนรู้ปัจจัยพื้นฐานการผลิต ได้แก่ พฤติกรรมของพืช/จุดวิกฤตทุเรียน เทคโนโลยี/ปัจจัยการผลิตทั้งเคมีเกษตรและสารชีวภัณฑ์ การเรียนรู้ภูมิประเทศและภูมิอากาศ การจัดการแรงงานภาคการผลิต ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพ ทั้งในฤดูและนอกฤดูกาลผลิต อย่างยั่งยืน ตลอดจนระบบการผลิตภายใต้มาตรฐาน GAP ทุเรียน การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน เกษตรกรในการพัฒนาทุเรียนคุณภาพ การจัดการทุเรียนคุณภาพโดยแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ทำหลักสูตรการจัดการทุเรียนคุณภาพที่ยั่งยืน (โรงเรียนทุเรียน) และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เกษตรกร

กลางน้ำ : ได้ดำเนินการส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลแปลงใหญ่ สมาชิกสมาพันธ์เชิงประจักษ์ สร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายสมาชิกสมาพันธ์ ส่งเสริมแนวคิดการบริหารจัดการกลุ่ม/องค์กรชาวสวนทุเรียน โดยใช้หลักธรรมาภิบาล แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรด้านการเงิน (มีวินัยทางการเงิน) การบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ได้แก่ การบริหารจัดการปัจจัยการผลิตในแปลงปลูก การรวมกลุ่มจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต การจัดการปุ๋ยผสมตามความต้องการของต้นทุเรียนเพื่อใช้ให้เหมาะสมกับช่วงการพัฒนาและเจริญเติบโตของผลทุเรียน และส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนและการบริหารเงินทุนในฤดูกาลผลิต ทั้งรูปแบบบุคคลและกลุ่ม

ปลายน้ำ : ได้ส่งเสริมการจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ หรือการส่งผลผลิตให้กับผู้บริโภคโดยตรง ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากทุเรียนไปยังพื้นที่ต่างๆ มีการประชาสัมพันธ์ทุเรียนอัตลักษณ์จากจังหวัดต่างๆ เพิ่มมูลค่าและขยายตลาด ส่งเสริมการนำทุเรียนคุณภาพเข้าจำหน่ายใน Modern trade

โดยคาดหวังผลสัมฤทธิ์จากแนวทางการยกระดับสมาชิกเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ดังนี้

  1. เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นทางการ
  2. มีการบริหารจัดการเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ มีการทำแผนธุรกิจทุเรียน ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาด การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต จัดหาตลาดซื้อขายที่แน่นอน
  3. มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญา มาปรับใช้ในแปลงปลูก มีการใช้เครื่องทุ่นแรง (เครื่องจักร เครื่องมือ) เพื่อลดการใช้แรงงาน
  4. มีการบริหารจัดการเงินทุนและทรัพยากรของกลุ่ม เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนของกลุ่ม

นายกริชศักดิ์ เลิศวณิชย์วัฒนา ผู้จัดการบริษัทมีโชคมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าเตรียมพร้อมทุกด้าน เพื่อที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยใช้บทบาทของห้างในการเชื่อมโยงการตลาด การนำผลผลิตมาจำหน่ายและประชาสัมพันธ์สู่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน กลุ่มและองค์กรด้านการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในอนาคต