วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

เชียงใหม่เดินหน้า ภาคเอกชนพร้อมหนุนแนะทุกส่วนเอาจริงโชว์พลังทั้งจังหวัด

Social Share

เชียงใหม่เดินหน้าระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อปรับปรุง ร่างเอกสารข้อเสนอ (Draft Nomination Dossier)ให้สมบูรณ์พร้อมส่งกลับให้ศูนย์มรดกโลก UNESCO พิจารณา ต้นปี 2563 ภาคเอกชนพร้อมหนุนแนะทุกส่วนเอาจริงโชว์พลังทั้งจังหวัด

ที่ห้องประชุมฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมและหัวหน้าโครงการเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก เปิดเผยว่า โครงการขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกและคุณค่าเมืองเชียงใหม่ – ดอยสุเทพ ในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก หลังจากที่ศูนย์มรดกโลก ณ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ส่งมาพร้อมคำแนะนำเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการปรับปรุง ร่างเอกสารข้อเสนอ (Draft Nomination Dossier) ซึ่งคณะทำงานสรุปไว้พร้อมส่งตรวจสอบความถูกต้องครั้งที่ 1 แล้วและเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด ในการพัฒนาปรับปรุง ร่างเอกสารดังกล่าว ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นครั้งนี้ จากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มสำคัญ คือหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายนและจะสรุปภาพรวมก่อนทำเล่มส่งให้ UNESCO พิจารณาอีกครั้งต้นปี 2563 นี้ ภายใต้ปีงบประมาณ 2562 ที่จะดำเนินการจนถึง 31 มกราคมปีหน้า

ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดจะต้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 หรือระยะ 10 ปีหลังจากที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองในบัญชีรายชื่อการพิจารณาเบื้องต้นเมื่อปี 2558  อย่างไรก็ตาม เวทีของหน่วยงานภาครัฐนักวิชาการมองว่า จะต้องมีการบูรณาการแผนพัฒนาเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคต่างๆในพื้นที่ ที่จะเสนอ การมีส่วนร่วมในการจัดการ ทั้งการอนุรักษ์และพัฒนา ซึ่งคณะทำงานจะได้ลงพื้นที่ เพื่อรวบรวมทำความเข้าใจให้อยู่ในแผ่นเดียวกันต่อไป แต่ก็มีข้อห่วงใยในเชิงของนโยบายทุกระดับ ที่จะต้องสอดคล้องกันด้วยตั้งแต่รัฐบาลกลาง จนถึงท้องถิ่น และ ประชาชนในพื้นที่ ส่วนเวทีของภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่เขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ และจุดที่เกี่ยวข้อง ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคาร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจด้านท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และอื่นๆ ต่างมองว่าประเด็นเรื่องมรดกโลกเป็นเรื่องสำคัญ ทุกฝ่ายน่าจะมีส่วนร่วม และ ดำเนินการในทิศทางเดียวกัน จำเป็นจะต้องมีการเข้าถึงข้อมูลหรือให้ข้อมูล ในด้านการอนุรักษ์หรือพัฒนาได้ง่าย และต้องให้ UNESCO หรือสำนักงานมรดกโลก ยอมรับในสิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเชียงใหม่ ไม่ถูกกะเกณฑ์หรือสร้างเงื่อนไข จนทำให้เกิดผลกระทบ และเป็นปัญหาต่อการพัฒนาหรือการดำรงอยู่ของเมืองเชียงใหม่เองด้วย.

เรื่องมาใหม่