วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

น่าสงสาร ช้างพลายบุญพัตร มีสิ่งแปลกปลอมติดในลำคอ สัตวแพทย์ และวิศวกร เร่งช่วยเหลือ

Social Share

ทีมคณาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลช้างกว่า 50 ชีวิต ร่วมช่วยรักษาช้างพลายบุญพัตร จากปางช้างภัทรเอเลเฟ่นฟาร์ม ที่เกิดสิ่งแปลกปลอมติดคอในหลอดอาหาร ณ โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

คณาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.น.สพ.ดร. วีระพงศ์ ตั้งจิตเจริญ ผศ.น.สพ.ดร. ฉัตรโชติ ทิตาราม ผศ.น.สพ. ตุลยวรรธ สุทธิแพทย์ อ.น.สพ.ดร. เฉลิมชาติ สมเกิด อ.น.สพ.ดร. นิธิดล บูรณพิมพ์ และ สัตวแพทย์ จากภาควิชาคลินิกสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า และ โรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ ร่วมกับ คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดย รศ.ดร. ธีระพงษ์ ว่องรัตนะไพศาล และ ทีมงาน จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ

ทีมงานสัตวแพทย์ สัตวบาลและเจ้าหน้าที่จาก สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปางช้างภัทรเอเลเฟ่นฟาร์ม ปางช้างแม่สา ปางช้างแม่แตง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมกันกว่า 50 ชีวิต ร่วมช่วยกันรักษาช้างพลายบุญพัตร จากปางช้างภัทรเอเลเฟ่นฟาร์มที่เกิดสิ่งแปลกปลอมติดคอ ทำให้ต้องมีการระดมทีมสัตวแพทย์ และ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาช่วยกันนำสิ่งแปลกปลอมที่ติดคาในหลอดอาหารนี้ออก ณ โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

โดยสิ่งแปลกปลอมอุดตันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 ช้างกินอาหารอย่างเร่งรีบ เนื่องจากมีช้างเชือกอื่นเดินมาใกล้ หลังจากนั้นมีอาการพยายามขย้อนอาหารออก กินอาหารและน้ำเข้าไปก็ขย้อนออกมาทุกครั้ง ทางทีมงานได้ทำการวางยาสลบ 4 ครั้งในท่านอน และวางยาซึม 1 ครั้งในท่ายืน โดยได้ใช้เครื่องมือคีบยาว 3 เมตร ที่ผลิตพิเศษโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงเวลา 20 วันนี้ ช้างมีการอยากกินน้ำ และ อาหาร แต่ไม่สามารถกลืนได้ ขย้อนสิ่งที่กินเข้าไปออกมาหมด เนื่องจากมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันในหลอดอาหาร

ในการวางยาสลบครั้งสุดท้ายวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ทางทีมงานได้ประสบความสำเร็จในการนำก้อนสิ่งแปลกปลอมนี้ออกมา โดยเป็นก้อนอ้อยและหญ้าขนาด 10 x 20 เซนติเมตร ซึ่งช้างเป็นสัตว์ที่มีหลอดอาหารเล็กมาก เมื่อเทียบกับขนาดตัว มีช้างหลายเชือกเสียชีวิตจากอาหารอุดตันในหลอดอาหาร โชคดีที่ช้างพลายบุญพัตรได้ทีมงานที่ร่วมมือร่วมแรงในการรักษาอย่างเต็มที่ และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการช่วยรักษาชีวิตช้าง ปัจจุบันพลายบุญพัตรยังคงรักษาอยู่ ณ โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ เพื่อเฝ้าดูอาการและความผิดปกติอีกระยะหนึ่งจึงจะได้กลับบ้าน

ทั้งนี้จากการรักษาพลายบุญพัตรด้วยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย ทำให้มีการพัฒนาทางการรักษาสัตว์ใหญ่อย่างช้างเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องมีการผลิตเครื่องมือพิเศษต่างๆ สำหรับช้าง ถือเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่จะอนุรักษ์ช้าง สัตว์สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ประเทศไทยต่อไป

เครดิต : ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า

เรื่องมาใหม่