วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เถ้าแก่วนัสนันท์ เผยทำธุรกิจกับ CSE อย่าหวังรวย มีแต่เจ้ง ธ.ก.ส.ภาคเหนือ ทุ่มงบกว่า 50 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรแม่แจ่ม พักชำระหนี้ให้ 7 ปี

Social Share

เถ้าแก่วนัสนันท์ เผยทำธุรกิจกับ CSE อย่าหวังรวย มีแต่เจ้งแต่ก็ยอมเพราะเพื่อสังคม ขณะที่ ธ.ก.ส.ภาคเหนือ ทุ่มงบกว่า 50 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรรายได้น้อยแม่แจ่ม พักชำระหนี้ให้ 7 ปี หวังลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด ลดพื้นที่บุกรุกป่านำพื้นที่ถูกบุกรุกกลับมาเป็นป่าแบบเดิม ส่งเสริมให้หันมาปลูกพืชผัก ผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์แทน

นายไพรัช โตวิวัฒน์ ตาแหน่ง กรรมการอำนวยการ บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) นายรัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด ผู้อำนวยการมูลนิธินวัตกรรมเกษตอินทรีย์ไทย (TOF) นางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โดยมี นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ ธ.ก.ส.สาขาภาคเหนือ พร้อมผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.ในพื้นที่ภาคเหนือ และผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.ภาคเหนือ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการขับเคลื่อนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่ห้องประชุมภายในสำนักงาน ธ.ก.ส.ภาคเหนือ อำเภอเมืองเชียงใหม่

นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ ธ.ก.ส.สาขาภาคเหนือ เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภอแม่แจ่มนับได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ มีประชากรในพื้นที่กว่า 30,000 คน ใน 5 หมู่บ้าน พื้นที่นี้มีการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด กระทั่งรัฐบาลได้ดำเนินการยึดคืนผืนป่าในปี 54 และมีการจัดสรรที่ดินให้ โดยทางกรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการ แต่พื้นที่ตรงนี้สิ่งที่พบคือ สภาพดินเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมีปลูกข้าวโพด เมื่อน้ำฝนซะล้างหน้าดิน ก็ทำให้สารเคเมีลอยไปกับน้ำลงสู่แม่น้ำปิง แม่น้ำสายหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ท้ายน้ำจังหวัดลำพูนที่ต้องใช้นำเพื่อการอุปโภค บริโภค ก็จะได้รับผลกระทบด้วย

หลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดก็ต้องทำการเผาตอซัง ก็เกิดปัญหาหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่นับเป็นสิ่งที่โชคดีอย่างหนึ่งที่ทางบริษัท เชียงใหม่ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) ได้เข้าไปช่วยเหลือและดูแลพื้นที่ในอำเภอแม่แจ่ม โดยได้นำร่องในหมู่บ้าน 2 แห่ง 4 ตำบล พร้อมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการดำเนินการศึกษาวิจัยพื้นที่และแหล่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ม.ค. เรื่องกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทาง ธ.ก.ส.ภาคเหนือ จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจนี้ เพราะในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ก็มีลูกค้าของ ธ.ก.ส.อยู่กว่า 5,800 ราย มีวงเงินการกู้กว่า 1,300 ล้านบาท

ต่อมาทาง ธ.ก.ส.ภาคเหนือ ได้เสนอไปยังส่วนกลางเพื่อที่จะจัดสรรงบประมาณและโครงการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม แต่ปัญหาคือพื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงพื้นที่เดียว ดังนั้น โครงการจะผ่านได้ยาก แต่ก็ด้วยความโชคดีที่โครงการนี้เกี่ยวข้องในด้านทิศทางของภาครัฐ ที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทำให้โครงการผ่านได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรได้

ทาง ธ.ก.ส. จึงได้จัดโครงการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 7 ปี และให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชพัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และทำการเกษตรอื่น แทนการปลูกข้าวโพด ซึ่งระยะเวลา 7 ปี ถือเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่การให้เกษตรกรปรับตัว จนสามารถตั้งตัวได้ และทางบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด ก็จะมาช่วยเหลือในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไปจำหน่ายด้วย

นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล (เฮียตั่ว) กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชียงใหม่วนัสนันท์ เปิดเผยว่า การทำธุรกิจ ร่วมกับ CSE นั้นไม่มีอะไรที่ได้กำไรแน่อน มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว แต่การขาดทุนนี้ก็เป็นสิ่งที่นักธุรกิจหลายคนยินยอม ที่จะมาร่วมมือกัน เพื่อที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น งานนี้จะต้องมีกำไร แต่จะไม่มีการแบ่งผลกำไร เพราะเงินจะไม่ได้เข้าที่กระเป๋าเรา แต่จะเข้ากระเป๋าของเกษตรกร ทุกคนนั้นทำเหมือนกับมูลนิธิที่คอยช่วยเหลือ เป็นการคืนกำไรให้กับสังคม ทำอะไรให้กับสังคม

โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ให้สามารถกลับมามีรายได้และอยู่ได้ และต้องขอบคุณหลายหน่วยงานที่ได้เข้ามาร่วมมือกันในการพัฒนา และนำโครงการแม่แจ่มโมเดลนี้ไปสู่จุดมุ่งหมาย และ ธ.ก.ส. ก็ได้สนับสนุนในด้านนี้ ที่ทำให้เกษตรกรได้พักชำระหนี้ถึง 7 ปี และยังส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพทั้งคนปลูกและผู้บริโภค ที่สำคัญดินในพื้นที่ประเทศไทยได้รับสารเคมีมาเพียงพอแล้ว ขณะนี้ต้องฟื้นฟูสภาพดินและแหล่งน้ำให้กลับคืนมา และยังเป็นการลดการบุกรุกป่าด้วย หากเกษตรกรมีรายได้จากการทำบนที่ดินที่ได้รับการจัดสรรจากกรมป่าไม้อย่างถูกต้อง ก็จะไม่มีการบุกรุกอีก

ด้าน นายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการอำนวยการ บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) กล่าว่า โครงการนี้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาพื้นที่ ลดการปลูกข้าวโพดหาพืชให้ปลูกทดแทน เช่น ผลไม้ สมุนไพร พืชผัก เลี้ยงไก่ ปศุสัตว์ โดยวางไว้ 3 ด้าน คือ 1.ประชาชนต้องอยู่ได้มีอาหารกิน เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ ไก่ ไข่ มีสมุนไพรไว้ทำอาหาร 2.ที่ทำมาค้าขาย เมื่อปลูกได้แล้วก็ต้องขาย แต่ต้องดูว่าพื้นที่ไหนเหมาะแก่การเพาะปลูกอะไร และเลี้ยงอะไรได้บ้าง และ 3.ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

โดยนำเอาป่าที่ยึดคืนจากการบุกรุก ซึ่งจะได้พื้นที่กลับคืนมาประมาณ 60 – 65 เปอร์เซ็นต์ กลับมาปลูกป่าคืนเหมือนเดิม ซึ่งพื้นที่ถูกต้องจริง มีประมาณแค่ 20,000 กว่าไร่เท่านั้น ซึ่งทางบริษัทฯ ก็เตรียมแผนช่วยเหลือเกษตรกรในการให้องค์ความรู้ และรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรปลูกด้วย

นายวรวัชร ตันตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชอยส์มินิสโตร์ กล่าวว่า เราเป็นคนท้องที่ คนท้องถิ่น มีการทำมาหากิน มีรายได้ เราเชื่อว่าสิ่งที่เรามีเราสามารถช่วยได้ ตลาดนี้น่าจะช่วยเกษตรกรและพัฒนาเกษตรกรได้ และการเริ่มที่อำเภอแม่แจ่มเป็นที่แรก และเชื่อว่าสามารถขยายโครงการแบบนี้ไปยังที่อื่นได้ สุดท้ายเราอยู่ที่นี่ เราสูดลมหายใจก็เจอหมอกควันทุกปี ก็ต้องปิดหน้ากาก ไปจ่ายค่ายาโรงพยาบาล แต่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงลูกหลานจะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่คิดว่าเราต้องช่วยกันพัฒนา

อยากให้คนเชียงใหม่ และทุกคนที่แม้จะไม่ใช่คนท้องที่แต่มาอยู่ที่นี่ได้เห็นความสำคัญ ซึ่งแนวทางนั้นอาจจะไม่ใช่บริษัทฯ นี้ อาจจะเป็นบริษัทฯ อื่น หรือจิตสำนึก เราก็สามารถที่จะช่วยกันได้ ขอให้คิดว่าเราอยากช่วยอยู่ในสิ่งที่ดี พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะมีความสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) กล่าวเสริมว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าไปให้องค์ความรู้กับเกษตรกร ในด้านการปลูกพืช การสำรวจดินและแหล่งน้ำ ก็พบว่าแหล่งน้ำในอำเภอแม่แจ่มนั้นไม่มีอ่างเก็บน้ำ และดินเสื่อมโทรม เมื่อมีฝนตกลงมาทำให้น้ำซึมลงดินเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงได้มีการนำศาสตร์พระราชามาใช้ในพื้นที่แห่งนี้ เพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดินและแหล่งน้ำ ให้เกษตรกรมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรและความรู้ด้านการเกษตรมากขึ้น เพื่อรองรับการปลูกพืชชนิดใหม่แทนการปลูกข้าวโพดแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม

โดยทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ใช้งบประมาณในการวิจัยและร่วมการพัฒนาพื้นที่กว่า 2.5 แสนบาท มีการทำคลองไส้ไก่ ซึ่งมาจากการที่น้ำฝนตกลงมาและไหลมาตามแหล่งน้ำของภูเขา เพื่อจะนำน้ำดังกล่าวมาสู่อ่างพวง ที่มีการขุดไว้ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้กว่า 54 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ไม่มีแหล่งน้ำเลย ก็สามารถที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ แม้ว่าปริมาณน้ำฝนจะไม่เพียงพอ แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้