วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

น้องเจี๊ยบ สาวราชภัฎนักธุรกิจหน้าใหม่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส นำขนนกยูงที่ถูกทิ้งมาผลิตเป็นงานแฮนด์เมดระดับโลก ไม่ง้อทำงานบริษัท

Social Share

น้องเจี๊ยบ สาวราชภัฎนักธุรกิจหน้าใหม่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส จากงานเลี้ยงนกยูงเชิงอนุรักษ์ นำขนนกยูงที่ถูกทิ้งมาผลิตเป็นงานแฮนด์เมดระดับโลก สร้างรายได้โดยไม่ต้องง้อการทำงานบริษัท

นักศึกษารุ่นใหม่ หลังจบมาสิ่งที่สรรหาคือการพุ่งเป้าเข้าหางานตามบริษัทฯ ใหญ่ๆ ห้างร้าน หรือสายอาชีพที่ตนเองใฝ่ฝัน แต่มีน้อยคนที่กลับมามองที่บ้านของตนเองและพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นเม็ดเงิน อย่างเช่นนักธุรกิจสาววัยรุ่นรายนี้ น้องเจี๊ยบ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ที่ต่อยอดจากสิ่งเล็กๆ ในครอบครัว จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้มองว่า ที่ผ่านมาเรามองเห็นอะไรรอบตัวและนำมาปรับปรุงใช้บ้าง

 

วันนี้ทางเพจได้มีโอกาสพูดคุยกับ น้องเจี๊ยบ หรือ นางสาวยุพาภรณ์ แก้วคำ อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 3 ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่กลายเป็นนักธุรกิจสาววัยรุ่น แบบอย่างของเด็กรุ่นใหม่อีกรายหนึ่ง ที่ต่อยอดจากสิ่งเล็กๆ ในบ้านนำมาสร้างอาชีพให้ตนเอง โดยไม่ต้องง้อการทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ โดยน้องเจี๊ยบ เล่าว่า ตนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ เมื่อปี 58 ซึ่งจบมาจากคณะเคมี หลังจากจบออกมาก็เหมือนกับคนทั่วไปที่มองหางานทำ แต่ด้วยแนวคิดที่อยากทำงานด้วยประสบการณ์ตนเอง ก็มาช่วยอาชีพในครอบครัว แต่สิ่งนี้ก็ยังมองว่าขาดอะไรไปบางอย่าง ที่จะนำมาเสริมรายได้

 

และในบ้านก็มีการเลี้ยงนกยูง ซึ่งเป็นสัตวคุ้มครองอยู่ แต่ก็มีการขออนุญาติเลี้ยงแบบถูกกฎหมาย โดยเลี้ยงในเชิงอนุรักษ์และมีแนวคิดที่จะเพาะขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมาก ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ป่า เพราะในป่าขณะนี้นกยูงมีน้อยมาก ประกอบกับสิ่งที่พบเห็นทุกครั้งคือ ในหนึ่งปีนกยูงจะมีการผลัดเปลี่ยนขนในช่วงฤดูฝน หรือราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งพี่ชายคือ นายยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ จบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็เป็นผู้ดูแลนกยูงที่อยู่ภายในบ้านกว่า 30 ตัว พร้อมกับมีไก่ฟ้า และกวางดาว ก็จะต้องนำขนนกยูงที่สวยงามเหล่านี้ไปทิ้ง หรือแจกให้กับคนที่อยากได้ เพราะครั้งแรกไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไรได้บ้าง

แต่ด้วยความเป็นผู้หญิง ก็อยากมีเครื่องประดับสวยๆ จึงนำขนนกยูงมาทดลองออกแบบ ทดลองทำต่างหู ก็เห็นว่ามีความสวยงามดี แม้ว่าตนเองจะไม่ได้จบทางด้านออกแบบมาโดยตรง แต่ด้วยใจและความคิดที่ชอบประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ก็ทดลองทำ และนำมาใช้กับตนเอง และหลายคนก็มองว่าสวย เมื่อนำมาโพสต์ลงสื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ค กระแสตอบรับจากเพื่อนๆ และคนรู้จักก็บอกว่าสวย เริ่มที่มีคนอยากจะได้ อยากให้เราทำให้

จึงเกิดแนวคิดว่าสิ่งนี้น่าจะนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจได้ และได้ค้นหาผ่านตามสื่อต่างๆ ก็เห็นว่ายังไม่เคยมีใครทำในประเทศไทย ด้วยแนวคิดอยากเปลี่ยนจากขนนกยูงที่ถูกทิ้งมาสร้างรายได้ จึงได้ค้นหาช่างเงิน ช่างทองที่อยู่ในพื้นที่ให้ช่วยทำตะขอสำหรับใช้กับตุ้มหู ค้นหาแหล่งขายอัญมณี เพื่อนำมาทำสิ่งของที่นำมาต่อเติมให้กับขนนกยูง เมื่อได้มาแล้วก็นำมาประกอบด้วยตนเอง หามุมมองต่างๆ ด้วยตนเอง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ตุ้มหูที่ทำจากขนนกยูงเกิดขึ้น ซึ่งเริ่มแรกก็ทำแบบชิ้นเล็กๆ ในราคาที่ต้นทุนไม่สูง

ต่อมาก็ได้คิดชื่อแบรนด์สินค้า ก็คิดหลายชื่อจนในที่สุดก็ตั้งชื่อว่า “Moreeya” โมรียา ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า “นกยูงอันเป็นที่รัก” เพราะตนผูกพันและเห็นนกยูงมาตั้งแต่เล็กๆ จึงตั้งชื่อนี้

ส่วนขนของนกยูงที่ใช้ทำเครื่องประดับ น้องเจี๊ยบ ย้ำว่า ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์แน่นอน เพราะขนที่ได้มาเป็นขนที่นกยูงผลัดเองตามธรรมชาติ เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่เก็บขนของนกยูงไว้ได้มากพอที่จะรองรับตลาดและออเดอร์จากลูกค้าได้ตลอดปีแน่นอน นกยูงในฟาร์มถูกเลี้ยงแบบปลอดภัย โดยมีพี่ชายซึ่งเชี่ยวชาญในการดูแลสัตว์อย่างดีคอยดูแล พื้นที่เลี้ยงค่อนข้างกว้างมีสนามหญ้าให้เดิน นกยูงจะไม่เครียด โดยนกยูงที่เลี้ยงจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไทยและพันธุ์อินเดีย จะมีความแตกต่างกัน ขนนกยูงอินเดียจะมีสีน้ำชา สีทอง และสีขาวล้วน ส่วนพันธุ์ไทย ขนจะมีลูกเล่น มีมิติ เวลาโดนแดดจะมีความมันวาว หรือที่เรียกกันว่า แววมยุรา

สำหรับกระบวนการผลิต คุณเจี๊ยบ เผยว่า ขั้นตอนแรก ต้องนำขนนกยูงมาทำความสะอาด คัดเลือกเฉพาะขนที่มีความสมบูรณ์และสวยงามเพื่อหาคู่ให้เหมือนกัน หลังจากนั้นก็ นำขนนกยูงทาน้ำมันบำรุง เพื่อเพิ่มความมันวาว และขั้นตอนสุดท้าย นำไปทำเป็นต่างหู โดยประยุกต์วัสดุอื่นร่วมด้วย อาทิ หินมงคล หลากสี เครื่องเงิน ทองคำ เพื่อเพิ่มลูกเล่นและเพิ่มมูลค่า เมื่อทำเสร็จงานแต่ละชิ้นเสร็จ ก็จะโพสต์ลงในเฟสบุ๊ค ก็มีเพื่อนและคนรู้จักติดต่อเข้ามาขอซื้อกันอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่อยากทำคือ แต่ละชิ้นจะมีเพียงแค่ชิ้นเดียว ไม่มีการทำซ้ำแบบ หากชิ้นไหน แบบไหนจำหน่ายไปแล้ว ก็จะไม่ทำซ้ำแน่นอน

แต่ถ้าลูกค้ามีการออกแบบว่าอยากให้ทำแนวไหน ตนก็สามารถทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการให้ได้ หลังจากที่เริ่มวางขายอย่างจริงจัง ก็มีลูกค้าตอบรับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และสั่งซื้อมาโดยตลอด

ด้านการทำตลาดของแบรนด์โมรียา ปัจจุบันใช้ช่องทางจำหน่ายออนไลน์ และส่งออกไปเยอรมนี อังกฤษ นอกจากนี้มีลูกค้ารายใหญ่ชาวไทย ร้านมาเรียม เฮิร์บ ได้ออเดอร์สินค้าไปจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว บริเวณร้านค้าในถนนคนเดินปาย ตอนกลางคืน ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และขายดีเป็นอย่างมาก ซึ่งเจ้าของ ระบุว่า เนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมด ที่หายาก ต่างหูแต่ละคู่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก และขนนกยูงเก็บได้เพียงปีละครั้ง แต่ถึงอย่างไร สินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการของตลาด แน่นอน ส่วนรายได้จากการจำหน่ายต่างหู จะนำไปเลี้ยงดูนกยูงในฟาร์มต่อ ก่อนจะนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติต่อไป

 

สำหรับราคาต่างหูขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ เริ่มต้นที่ 450 – 9999 บาท มีการรับประกันหนึ่งปี สามารถส่งซ่อมฟรีได้ 1 ครั้ง และสามารถจำหน่ายสินค้าได้เดือนละไม่น้อยกว่า 40 คู่ ส่วนในอนาคตคาดว่าจะมีการต่อยอดทางธุรกิจแฮนด์เมดขนนกยูง เป็นเครื่องประดับอื่นๆอีก เช่น ผ้าคลุมไหล่ ปิ่นปักผม และเครื่องประดับอื่น เรียกได้ว่าเป็นเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จในด้านของการสร้างรายได้ให้อย่างงามแก่ครอบครัว และยังเป็นการช่วยสงวนสัตว์หายากให้แพร่พันธุ์สู่ธรรมชาติอีกด้วย จากไอเดียที่บรรเจิดสู่งานแฮนด์เมดชิ้นเลอค่า และหายาก ขยายไปสู่ตลาดความงามระดับโลกได้อย่างน่าทึ่ง

น้อยคนนักจะสามารถทำได้ สำหรับผู้ที่สนใจ เครื่องประดับจากนกยูง สามารถติดต่อได้ที่ คุณเจี๊ยบ- ยุพาภรณ์ แก้วคำ เบอร์โทรศัพท์ (062) 264-6282 และผู้ที่สนใจสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงนกยูง ติดต่อ โจ้-ยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ (089) 560-4258 และติดต่อผ่านทางเพจเฟสบุ๊คได้ที่ Moreeya (คลิ๊กที่นี่)

เรื่องมาใหม่