วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

(มีคลิป) วัดพระสิงห์ ปิดวิหารหลวงที่สร้างสมัยครูบาศรีวิชัย ปินนานเกือบ 1 ปี บูรณะครั้งใหญ่ ใช้งบมากกว่า 11 ล้านบาท

Social Share

8 ส.ค. 62 : ที่วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทางวัดได้มีการปิดวิหารหลวง เพื่อทำการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปและทรัพย์สินอื่นๆ ที่อยู่ภายในวิหาร เพื่อเตรียมบูรณะครั้งใหญ่ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปกราบไหว้พระและชมความงามของวิหารหลวง ไม่สามารถเข้าไปได้

ด้าน พระเทพสิงหวราจารย์,ดร. เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร และรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การบูรณะครั้งนี้เนื่องจาก เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวได้พาครอบครัวมาที่วัด และเศษช่อฟ้า ซึ่งอยู่บนหลังคาได้หลุดตกลงมา ทำใส่ศีรษะเด็กจนศีรษะแตก จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกันแต่ตกลงใส่หลังคารถที่จอดอยู่จนได้รับความเสียหาย ซึ่งทางวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็ได้นำเหตุการณ์ดังกล่าว ไปปรึกษากับทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เพื่อนำมาบูรณะซ่อมแซม เพราะเกรงว่าหากไม่เร่งบูรณะก็จะเกิดอันตรายต่อพระ เณร รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวภายในวัดเป็นจำนวนมากทุกวัน

ก่อนหน้านั้น เคยเกิดเหตุการณ์เป็นเด็กชาวไทยศีรษะแตก แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศก็อาจจะเกิดผลกระทบต่อวัดมากกว่านี้ ซึ่งต่อมาทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ก็เห็นชอบและมาตรวจสอบตามจุดต่างๆ ก็พบว่ามีรอยร้าวที่ช่อฟ้า ใบระกา รวมถึงหลังคารั่ว และจุดต่างๆ ของวัดก็เริ่มมีรอยแตกร้าว มีสภาพทรุดโทรม จึงเห็นชอบในเรื่องการบูรณะวัดแห่งนี้ และตั้งงบประมาณในการบูรณะไว้จำนวน 11,800,000 บาท ซึ่งตามโครงการจะเริ่มบูรณะตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2562 – 1 มิถุนายน 2563 รวมระยะเวลา 300 วัน เมื่อบูรณะเสร็จก็จะมีสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะกรรมการของวัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรม ไวยาวัจกร และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง

 

พระเทพสิงหวราจารย์,ดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปิดปรับปรุงนั้น ไม่ได้ห่วงว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยว หรือการเข้ามากราบไหว้พระพุทธรูปภายในวัด เพราะในวัดยังมีวิหารลายคำ ที่สร้างขึ้นสมัยของพญาธรรมลังกาหรือพระเจ้าช้างเผือก ระหว่าง พ.ศ. 2358-2364 เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญของวัดพระสิงห์ วรมหาวิหารแห่งนี้ มีพระอุโบสถ หรือพระอุโบสถสองสงฆ์ ซึ่งตามศิลาจารึกบอกว่า สร้างสมัยพระเจ้ากาวิละ มีหอไตร และหอจงกรมครูบาศรีวิชัย และมีโบสถ์อีก 1 หลังที่อยู่ด้านหลังวิหารหลวง นักท่องเที่ยวก็ยังสามารถเข้ากราบไหว้พระและเยี่ยมชมได้ตามปกติ

หากมีการก่อสร้างได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็จะมีการสร้างอุโมงค์ในวิหารหลวง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินลอดอุโมงค์เข้าไปกราบไหว้ได้ แต่ต้องรอหลังจากที่มีการบูรณะไปได้ส่วนหนึ่ง และมีการประเมินแล้วว่า สามารถเข้าไปได้โดยปลอดภัย แต่ก่อนหน้านั้นจะทำการปิดวิหาร ไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้า และกันบริเวณโดยรอบ เพราะการรื้อหลังคาและรื้อสิ่งต่างๆ ออก อาจจะมีสิ่งของร่วงหล่น และอาจจะไปตกโดนนักท่องเที่ยว หรือรถที่จอดอยู่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกั้นและปิดไว้

 

สำหรับวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 โดยพญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์มังราย พญาผายูได้นำอัฐิ พญาคำฟู ผู้เป็นราชบิดา ซึ่งครองอยู่เมืองเชียงแสนมาบรรจุในสถูปประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ แล้วสร้างเป็นขึ้น ซึ่งเดิมทีเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดลีเชียงพระ เพราะที่บริเวณหน้าวัดเป็นสถานที่ค้าขายของชาวเมือง จนกลายเป็นตลาดลีเชียงพระ และเรียกชื่อวัดว่า “วัดลีเชียงพระ” ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1943 เจ้ามหาพรหม กษัตริย์เมืองเชียงราย ได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ ซึ่งได้มาจากเมืองกำแพงเพชร นำมาถวายพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ พญาแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระประชาชนจึงเรียกวัดลีเชียงพระว่า”วัดพระสิงห์” นับตั้งแต่นั้นมา จากนั้นวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

 

ส่วนพระวิหารหลวง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2467 เป็นที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ (หลวงพ่อโต) พระวิหารหลวงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา กว้าง 24 เมตร ยาว 56 เมตร ผนัง-ต้นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก เครื่องบนไม้สักล้วน หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีมุขหน้าและมุขหลัง ด้านหน้ามี 3 ประตู ด้านหลังมีประตู 2 ข้าง ด้านข้างมี 2 ประตู มีหน้าต่าง ด้านละ 5 ช่อง พระวิหารหลังเดิมเป็นจัตุรมุข ซึ่งได้ชำรุดทรุดโทรมมากจนไม่สามารถบูรณะให้เหมือนเดิมได้ ครูบาศรีวิชัยจึงได้รื้อและสร้างพระวิหารหลวงปัจจุบันนี้แทน ซึ่งเวลาผ่านมาหลายปี จนเกิดการชำรุดทรุดโทรม จึงได้ปิดบูรณะในครั้งนี้