(คลิป) ชลประทานเชียงใหม่ เตรียมปล่อยน้ำแก้ภัยแล้ง พร้อมใช้สมาร์ทโฟนสั่งเปิด-ปิดประตูระบายน้ำแก้น้ำท่วมเมือง

28 พ.ค. 2020
1403
Social Share

28 พ.ค. 63 : นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยนายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมคณะได้เดินทางตรวจติดตามความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเชียงใหม่-ลำพูน และรองรับการระบายน้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 ที่อาคารประตูระบายน้ำท่าวังตาล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นทางคณะได้เดินทางไปตรวจโรงสูบน้ำบ้านดอนไชย ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำจากคลองแม่ข่าลงแม่น้ำปิง เพื่อดูการระบายน้ำเสียจากคลองแม่ข่าและแนวทางการป้องกันไม่ให้แม่น้ำปิงเกิดการเน่าเสีย รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำที่อยู่ท้ายลำน้ำแม่ปิง

ต่อมาทางคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยมฝายชลขันธ์พินิจ (ฝายแม่ปิงเก่า) ตรวจสอบอาคารไซฟอนแม่ตาช้าง ที่จะระบายน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาช้าง เพื่อป้องกันอุทกภัยในเขตอำเภอหางดง ตรวจสอบอาคารไซฟอนแม่เหียะ ที่ระบายน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่เหียะ และโรงสูบน้ำห้วยแก้ว (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เพื่อเตรียมความพร้อมระบายน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแก้ว ป้องกันอุทกภัยในเขตพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 63 โดยคาดหมายปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะเกิดพายุหมุนเขตร้อน จำนวน 1 – 2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคม หรือกันยายน ซึ่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ประกอบกับปริมาณฝนในปี 2562 มีปริมาณน้อยมาก และจากการสำรวจพบว่ามีปริมาณน้อยเกือบเทียบเท่าปี 2558 ที่ถือเป็นปีที่แล้งที่สุดของลุ่มน้ำปิงตอนบนที่ประสบปัญหาแล้งที่สุดในรอบ 93 ปี และปี 2562 ที่ผ่านมาก็มีปริมาณน้ำฝนเพียงประมาณ 860 มิลลิเมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกันกับในปี 2558 มีประมาณ 830 มิลลิเมตร ก็คือเกือบแล้งที่สุด ทำให้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ที่ใช้บริหารจัดการนั้นมีปริมาณน้ำน้อยไปด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของสภาวะภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง และการเตรียมรับมืออุทกภัยที่จะเกิดจากพายุหมุนเขตร้อน จึงได้ลงพื้นที่ตรวจอาคารประตูระบายน้ำ และเส้นทางการระบายน้ำตามจุดต่างๆ ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยที่ประชาชนรวมถึงเกษตรกรจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งและอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว

นายสุดชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำเพียง 48.92 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18.45 เปอร์เซ็นต์ น้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 61.91 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23.54 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 18 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 28 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 191 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 34 ล้าน ลบ.ม. การเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วงและปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ทางชลประทานวางแผนที่จะปล่อยน้ำสัปดาห์ละ 1 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป รวมทั้งหมด 9 สัปดาห์ จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 63 โดยน้ำที่ปล่อยไปนั้นจะเน้นเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค (การผลิตประปา) เป็นหลัก ซึ่งเป็นนโยบายของท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และท่านอธิบดีกรมชลประทาน ที่เน้นในเรื่องนี้เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นไม้ผลไม้ยืนต้น ส่วนภาคการเกษตรนั้น การปลูกข้าวช่วงนี้เริ่มตกกล้า โดยความหมายคือจากนี้ไปกรมชลประทานจะใช้น้ำฝนที่ตกลงมาในการปลูกข้าวนาปี และทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้แจ้งแล้วว่าจะมีการฝนทิ้งช่วงในกลางเดือนมิถุนายน จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งน้ำในส่วนที่เตรียมไว้ 30 ล้าน ลบ.ม. ก็จะนำมาใช้ในช่วงดังกล่าว และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และฝนตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำเข้าเกณฑ์เฉลี่ยก็จะเก็บน้ำในเขื่อน และจะใช้น้ำฝนบริหารให้จนจบฤดูฝนนี้

สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ที่อยู่บริเวณท้ายน้ำจะได้รับผลกระทบ ซึ่งทางชลประทานมีเครื่องสูบน้ำ จำนวน 79 เครื่อง รถสูบน้ำ 2 คัน รถบรรทุกน้ำ 16 คัน รถขุด 5 คัน รถบรรทุก 25 คัน รถแทรกเตอร์ 1 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ จาก 11 หน่วยงานมาช่วยเหลือ ขณะนี้ได้ดำเนินการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือภัยแล้ง ไปแล้วจำนวน 30 เครื่อง ปริมาณน้ำสูบช่วยเหลือ 3,224,000 ลบ.ม. พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 6,221 ไร่ มีการเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ 10 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 5.295 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันได้ผันน้ำไปเก็บไว้แล้วปริมาณ 2.407 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุเก็บกัก ซึ่งมั่นใจว่า ฤดูแล้งในปีนี้ ทางชลประทานมั่นใจว่า ปริมาณน้ำที่มีเตรียมไว้ทั้งการผลิตน้ำประปา จำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. และการบริหารจัดการน้ำในด้านต่างๆ อีก 30 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งปี 63 ไปจนถึงเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเดือนสิงหาคมอย่างแน่นอน

ด้านการป้องกันอุทกภัยจากการตรวจสอบอาคารควบคุมประตูระบายน้ำ ตั้งแต่จุดแรกที่อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงบริเวณท้ายลำน้ำปิง และเส้นทางที่น้ำป่าจะไหลหลากลงมาจากพื้นที่ดอยสุเทพ และจะผันน้ำลงในคลองชลประทาน และผันน้ำลงมาในแม่น้ำปิง โดยมีการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั้งหมด 20 แห่ง อาคารป้องกันน้ำท่วม จำนวน 77 แห่ง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมใช้งาน กำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 42 จุด รวม 68 เครื่อง ในภาพรวมขณะนี้ ถือว่าจังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมที่จะป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น และมีการนำแผนที่ One map ที่เป็นแผนที่สำคัญที่จะบอกว่า ในแต่ละประตูระบายน้ำใครเป็นผู้รับผิดชอบ หากเกิดปัญหาจุดไหนจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่คนไหน ก็ทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแลเฉพาะ

ที่สำคัญประตูระบายน้ำท่าวังตาล ยังถือเป็นประตูระบายน้ำที่สำคัญ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะป้องกันอุทกภัยให้กับชาวเชียงใหม่ ที่เพราะสามารถระบายน้ำแต่ละบานประตูได้ถึง 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำที่จะเอ่อล้นในตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 400 ลบ.ม. ก็เปิดเพียง 2 บานประตูก็สามารถแก้ไขอุทกภัยในตัวเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว และหากมีน้ำมากกว่านี้ก็สามารถเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มได้ ที่สำคัญยังสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้ด้วย ทำให้เกิดการตรวจสอบและสั่งเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำได้ทันทีหากเกิดอุทกภัยขึ้น และขอความร่วมมือประชาชนงดทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน และเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ