แม่ทัพน้อยที่ 3 ลงพื้นที่ปรับแผนเพิ่มความเข้มข้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอำเภอสามเงา จังหวัดตาก

11 มี.ค. 2019
1179
Social Share

11 มีนาคม 2562 : พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอำเภอสามเงา จังหวัดตาก โดยมี นายวรานนท์ ยิ้มมงคล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พ.อ.สุรจิตร์ สุขีเมฆ รอง ผบ.มทบ.310 พ.อ.เสมา มังมติ รอง ผอ.รมน.จว.ตาก นายวิทยา ศรีสุวรรณ รักษาการ ทสจ.ต.ก.และนายบรรจง ขุนเพชร นายอำเภอสามเงา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอำเภอสามเงา จังหวัดตากครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่า และปรับแผนเพิ่มความเข้มข้นจัดชุดดับไฟจากกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดตากวางกำลังลาดตระเวนพื้นที่เสี่ยงร่วมกับชุดดับไฟกรมป่าไม้ ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบเห็นใครจุดไฟป่าให้ดำเนินการตามกฏหมายทันที

แม่ทัพน้อยที่ 3 กล่าวว่าจากการปฏิบัติที่ผ่านมา ได้สั่งการให้กองกำลังรักษาความสงบจังหวัด ทั้ง 9 จังหวัด เร่งดำเนินการทุกมาตรการ ติดตามสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามการตรวจจับจุดความร้อนหรือ hotspot และคุณภาพอากาศในพื้นที่ 9 จังหวัดอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกัน และให้ชุดปฏิบัติการของทหารพรานทั้ง 2 หน่วยเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการเข้าดับไฟตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีการร้องขอ พร้อมกันนี้ให้หน่วยทหารทุกหน่วยดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อช่วยลดปัญหาหมอกควันและค่าฝุ่นละออง

ทั้งนี้จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง หากสามารถลดปัญหาการเกิดไฟป่าได้ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามมาตรการ ห้ามเผาอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. ถึง เม.ย. 62 และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และประชาชนในพื้นที่ งดเผาป่าอย่างเด็ดขาด หากพบมีผู้กระทำผิด จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

สำหรับข้อมูลจุดความร้อนสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.ถึง 10 มี.ค.62 ในพื้นที่ 9 จว.พบจุดความร้อนสะสม 3,115 จุดโดยเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,292 จุด เขต สปก.145 จุด พื้นที่ป่าสงวน 1,500 จุด โดยจังหวัดที่มีจุดความร้อนสะสมมากที่สุดได้แก่ จว.ช.ม. 580 จุด จว.น.น. 566 จุด และ จว.ล.ป.513 จุด

ในส่วนของพื้นที่จังหวัดตาก การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อติดตามรับทราบปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการปฏิบัติเป็นไปตามแผนหรือไม่ ได้มีการปรับแผนหรือดำเนินการให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อจะได้ร่วมหาทางแก้ไขหรือสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันทราบดีว่าผู้ว่าราชการจังหวัดตากและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างมีความตั้งใจและทุ่มเท การทำงานเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพอากาศที่ดี แต่ในปีนี้มีการนำเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เข้ามาเป็นตัวชี้วัด จึงต้องมี แผนปฏิบัติการที่ละเอียดและรอบคอบ เพิ่มขึ้น

 

จากข้อมูลจังหวัดตากเมื่อเปรียบเทียบสถิติการเกิดจุดความร้อนจากการเผาในปีนี้ พบว่า ยังน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ที่ทำให้ปริมาณ PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน เนื่องจากมีการชิงเผาในพื้นที่เกษตรก่อนถึงช่วงวิกฤติหมอกควันที่มีประกาศของจังหวัด ห้ามเผา โดยเด็ดขาดทุกพื้นที่ จึงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีการสะสม แต่ PM 10 ที่เคยใช้ เป็นตัวชี้วัดในการดำเนินงานปีที่ผ่าน ๆ มา ยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

อย่างไรก็ตามศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับภาคส่วนหน้า ได้ติดตามสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าของแต่ละจังหวัด อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และวางแผนการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น แบบ Real time รวมทั้งได้กำชับเจ้าหน้าที่ ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน และเตรียมพร้อมกำลังพล วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมรับสถานการณ์ในทุกพื้นที่ทุกกรณี หากพบการกระทำความผิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามมาตรการ ทางกฎหมายอย่างเข้มงวดทันที