วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

(มีคลิป) รพ.สวนปรุง จัดโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล ให้คนไข้รับยาได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน

Social Share

โรงพยาบาลสวนปรุง ห่วงใยผู้ป่วยจิตเวช พร้อมขานรับนโยบายรองนายกฯ อนุทิน จัดโครงการลดความแออัดให้ผู้ป่วยจิตเวชรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบันได้ หลังพบปัญหาผู้ป่วยจิตเวชร้อยละ 60 กินยาไม่ตรงเวลา หรือไม่มารับยา เพราะอยู่พื้นที่ห่างไกล ไม่มีค่าเดินทาง ทำให้อาการทรุดลง

1 ตุลาคม 2562 : ที่ห้องประชุมสิริกิติยา ชั้น 3 อาคารอุบลรัตนราชกัญญา โรงพยาบาลสวนปรุง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แพทย์หญิงสุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง พร้อมด้วย รศ.ดร.ภก. วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.บุญเติม ตันสุรัตน์ อาจารย์ที่ปรึกษา สปสช., เภสัชกรหญิง น้ำฝน ปิยะตระกูล ได้ร่วมกันแถลงข่าวโครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบันนประเภท 1 (โครงการผู้ป่วยจิตเวชรับยาที่ร้านยา)

แพทย์หญิงสุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวในการแถลงข่าว “โครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 ในครั้งนี้ได้ดำเนินการตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล และลดเวลาการรอรับยา ลดภาระการเดินทางของผู้ป่วยที่มาใช้บริการในโรงพยาบาล

ในช่วงแรกจะเป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช ให้ร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 (ขย.1) ร่วมเป็นหน่วยจ่ายยา ซึ่งสอดคล้องกับโครงการที่โรงพยาบาลสวนปรุง ได้ประสานความร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ “โครงการพัฒนาระบบยาและบริการเพื่อการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสู่ร้านยาในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง” ที่ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการคือ ให้ผู้ป่วยจิตเวช เข้าถึงยาได้ง่าย สะดวก ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางมารับยาที่ รพ.สวนปรุง ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการดูแลการใช้ยาจากเภสัชกรร้านยาที่ผ่านการอบรม เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เภสัชกรร้านยา ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการบริบาลเภสัชกรรมด้านยาจิตเวช และลดความแออัดและลดเวลารอคอยในโรงพยาบาล ซึ่งโครงการนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีร้านยาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 4 ร้าน เข้าร่วมโครงการคือ ศูนย์ปฏิบัติการเภสัชชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์ยาสี่แยกข่วงสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, ร้านยาฟาร์ม่า เฮลท์แคร์ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และร้านละเอียดเภสัช อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

แพทย์หญิงสุวรรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะแจกจ่ายยานั้นผู้ป่วยต้องมีอาการคงที่ ซึ่งการแจกจ่ายยานั้นจะต้องจ่ายยาตามใบแพทย์สั่ง โดยคนไข้จะนำใบสั่งยาไปรับยากับร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ วิธีการจ่ายยาของโรงพยาบาล ก็จะนำมีจัดยาแล้วส่งไปให้กับทางร้าน เมื่อผู้ป่วยนำใบสั่งไปรับยา ทางร้านก็จะไม่แค่จ่ายยา แต่จะถามถึงอาการและบันทึกว่าอาการของผู้ป่วยเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ทราบว่าผู้ป่วยมีอาการคงที่ ดีขึ้น หรือแย่ลง แล้วผลของการรับยาของคนไข้ ก็จะถูกส่งกลับมาที่โรงพยาบาลทุกๆ เดือน และเมื่อครบกำหนดทุกๆ 6 เดือน คนไข้ ก็จะต้องกลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่ง 1 ปี ก็จะกลับมา 2 ครั้ง และการจ่ายยาตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรกคือโรงพยาบาลจ่ายยาไปที่คลีนิคตามจำนวนที่คนไข้แต่ละคนต้องรับ เพื่อเป็นการควบคุมเรื่องของปริมาณยา ป้องกันไม่ให้คนไข้นำยาไปใช้ผิดประเภท ต่อไปในอนาคตหากมีความพร้อมเรื่องระบบการจ่ายยา ก็อาจจะจ่ายไปให้กับร้านยาทั้งหมดแล้วให้ทางร้านไปคัดแยกและจ่ายให้กับผู้ป่วยแต่ละรายเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องจ่ายตามอาการของคนไข้

สำหรับปัญหาที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ จนนำมาสู่การเริ่มโครงการก็เนื่องจาก เคยพบเจอปัญหาผู้ป่วยร้อยละ 60 ไม่มีวินัยในการทานยา หรือไม่มารับยาตามกำหนด เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ห่างไกล ไม่มีเวลา ไม่มีค่าเดินทาง การจัดโครงการนี้ขึ้นนอกจากจะลดความแออัด ผู้ป่วยจิตเวชและญาติที่พามาไม่ต้องรอคิวเป็นเวลานานที่ในโรงพยาบาลแล้ว สิ่งสำคัญทำให้ผู้ป่วยเกิดความสะดวกในการมารับยาไปทาน และอาการจะได้คงที่หรือดีขึ้น ไม่ทรุดลง เบื้องต้นได้เริ่มนำร่อง 4 โรงพยาบาลก่อน จากนั้นก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้งหมด และถือว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยจิตเวชอย่างมาก