วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

องคมนตรี ติดตามงานของมูลนิธิ พร้อมเตรียมรับรองขึ้นทะเบียนพันธุ์พีชพันธุ์ใหม่ “รูบี้โกลด์ 1”

Social Share

11 กันยายน 2562 : นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 12/ 2562 ณ ห้องดอยคำ อาคารฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ให้มีความต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน โดยมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

การพิจารณาโครงการวิจัยภายใต้งบประมาณของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งคณะทำงานวิจัยของมูลนิธิฯ ได้พิจารณากลั่นกรองโครงการวิจัยที่เหมาะสมและตรงกับความจำเป็น เพื่อประโยชน์ต่อมูลนิธิโดยมีโครงการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาแล้วจำนวน 40 เรื่องโครงการวิจัยที่รอการพิจารณา จำนวน 3 เรื่อง จากจำนวนโครงการวิจัยที่เสนอขอ 117 โครงการ ซึ่งได้มีโครงการวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ตามนโยบายของมูลนิธิฯ ที่จะสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการในองค์กรให้ก้าวไปเป็นนักวิจัยคุณภาพรุ่นใหม่ โดยขณะนี้มีโครงการวิจัยเสนอขอรับทุนแล้ว จำนวน 18 โครงการ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติให้มีการขอรับรองขึ้นทะเบียนพันธุ์พีชพันธุ์ใหม่ จำนวน 1 พันธุ์ คือ“รูบี้โกลด์ 1” (Ruby Gold 1) ซึ่ง รศ.ดร.อุณารุจ บุญประกอบ นักวิจัยของโครงการหลวง สามารถพัฒนาพันธุ์ลูกผสมจากการผสมพันธุ์เปิดของพีช พันธุ์เจด ลักษณะเด่นคือ ผลกลมสีเหลืองทอง เนื้อผลไม่นิ่ม ไม่เละง่ายสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดี เหมาะกับการเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนเร็ว เช่น พื้นที่โครงการหลวงอินทนนท์ ขุนวาง แม่ปูนหลวง หรือพื้นที่ระดับความสูง ประมาณ 1,100 – 1,300 เมตร ทนต่อโรคราสนิม และโรคใบจุด ให้ผลผลิตคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าพันธุ์เดิมและมีอายุวางจำหน่ายได้นานเพิ่มขึ้น 10-14 วัน คุ้มค่าต่อการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์

ปัจจุบันได้นำขยายสู่งานส่งเสริมให้เกษตรกรได้เพาะปลูกแล้ว 4 แห่ง จำนวน 1,850 ต้น นอกจากนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ยังขอรับการสนับสนุนพีชพันธุ์ใหม่ เพื่อนำไปขยายผลส่งเสริมให้เกษตรกรใน 5 แห่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี แม่สลอง ป่าเกี๊ยะใหม่ ห้วยน้ำขาว และปางหินฝน จำนวนรวม 1,550 ต้น

จากนั้นองคมนตรียังได้ติดตามความคืบหน้า การถอดบทเรียน 50 ปี โครงการหลวง เพื่อกำหนดรูปแบบและเป็นต้นแบบ โครงการหลวงโมเดล (Royal Project Model) : การปฏิบัติที่ดีของการพัฒนาทางเลือกเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวม เรียบเรียง และวิเคราะห์ข้อมูลประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ในการพัฒนาพืชทางเลือก เพื่อความยั่งยืน และเพื่อเผยแพร่งานโครงการหลวงสู่ระดับสากล ดังคำกล่าวที่ว่า “ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”

เรื่องมาใหม่