วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

สถาบันดาราศาสตร์ ระดมทีมที่ปรึกษาดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลกหารือ เดินหน้าสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ

Social Share

สดร. ระดมทีมที่ปรึกษาดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลกหารือ เดินหน้าสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเทคนิคระดับนานาชาติของหอดูดาววิทยุแห่งชาติ ณ สำนักงานใหญ่ สดร. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ระดมผู้ทรงคุณวุฒิด้านดาราศาสตร์วิทยุจากทั่วโลก ร่วมหารือด้านเทคโนโลยีและพัฒนาเทคนิค เตรียมสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติแห่งแรกของไทย ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ยากสร้างเทคโนโลยีใหม่และพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกล่าวว่า สดร. มีแผนดำเนินการสร้าง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และ 13 เมตร ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ นอกเหนือจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

สดร. จึงเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์วิทยุจากหอดูดาวทั่วโลก ร่วมเป็นปรึกษาด้านเทคนิคระดับนานาชาติของหอดูดาววิทยุแห่งชาติ (International Technical Advisory Committee for System Integration & VLBI Development for the Thai National Radio Observatory : TNRO-ITAC)

ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ฮิเดยูกิ โคบายาชิ รองผู้อำนวยการหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเทคนิคฯ และคณะกรรมการจากหอดูดาวทั่วโลก อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี สเปน เกาหลีใต้ จีน และเชิญมาร่วมประชุม เพื่อให้คำแนะนำ คำปรึกษา แนวทางการดำเนินงานของ สดร.

การประชุมครั้งนี้ สดร. ได้นำเสนอแผนดำเนินการและรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร จานแรกของไทย ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแผนความร่วมมือระหว่าง สดร. กับ Shanghai Astronomical Observatory, Chinese Academy of Sciences, China สร้างและพัฒนากล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร สำหรับใช้เป็นต้นแบบวางแผนสร้างและติดตั้งเองในอนาคต

ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำแนะนำและเสนอแนะเทคนิคพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน และติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ดังกล่าว

ปัจจุบันยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์วิทยุใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเหมาะสมอย่างยิ่งในการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั้งสองจะทำงานสนับสนุนกันเพื่อใช้ในการวิจัยทางดาราศาสตร์และการเป็นสถานีเชื่อมต่อของภูมิภาคและร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่าย VLBI ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ทวีปออสเตรเลีย และเครือข่าย VLBI อื่นๆ ของโลก

เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลก เพื่อการพัฒนางานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและทางด้านธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเปลือกโลกซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติบนพื้นโลก เช่น การเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิ เป็นต้น การก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ยังจะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์วิทยุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังผลให้ดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย

กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ใช้ต้นแบบและพัฒนามาจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุเยเบส ของหอดูดาวเยเบส แห่งราชอาณาจักรสเปน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ฐานรากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 16 เมตร อาคารฐานรากมีความสูงประมาณอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการนักดาราศาสตร์ ห้องเก็บอุปกรณ์รับสัญญาณวิทยุ ห้องรับสัญญาณ รับความถี่คลื่นวิทยุได้ถึง 100 กิกะเฮิร์ตซ์ กำหนดแผนดำเนินการระหว่างปี 2560-2563

คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จ เริ่มใช้งานประมาณปี 2564 ในอนาคตยังมีแผนติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร และมีแผนขยายเครือข่ายสถานีเชื่อมสัญญาณไปยังภูมิภาคอื่นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้อีกด้วย

 

จากนั้น ช่วงบ่ายวันเดียวกัน คณะได้เดินทางไปดูสถานที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย ดร.บุษบา คราเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยมีดร. นพดล โค้วสุวรรณ์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมต้อนรับคณะ พื้นที่ดังกล่าว มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุรบกวน อยู่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่ออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร

โดย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชนุญาต ให้ สดร. ดำเนินโครงการในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 50 ไร่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ สดร. ล้นพ้นหาที่สุดมิได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง