วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

รองอธิบดีฯ เกษตร เยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่างงานผ้าใยกัญชงแม่ริม วิถีชีวิตชาวม้งกับความเชื่อของกัญชง

Social Share

รองอธิบดีฯ เกษตร เยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่างงานผ้าใยกัญชงแม่ริม วิถีชีวิตชาวม้งกับความเชื่อของกัญชง ชุมชนที่ยังเป็นการอนุรักษ์ ทั้งวิถีหัตถกรรมวัฒนธรรม จนสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

11 กันยายน 2562 : นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่างงานผ้าใยกัญชง โดยมี นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นางธัญญพร ถนอมวรกุล ให้ข้อมูลการดำเนินงานกิจกรรมกลุ่ม ณ หมู่ที่ 10 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

” กัญชง ” เป็นไม้ล้มลุกมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัญชา แตกต่างกัน คือ ต่อมน้ำมันของกัญชงมีน้อยกว่า ถึงแม้ยังจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่การใช้ประโยชน์หลักทางด้านสิ่งทอเป็นสำคัญ

ดังเช่น บ้านแม่สาใหม่ นายบรรพต​ รัตนดิลกกุล​ ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่าที่แห่งนี้อยู่บนพื้นที่สูงประชากรส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายชาติพันธุ์เผ่าม้ง มีงานจักสานที่เป็นเอกลักษณ์รวมถึง การทำหัถกรรมที่นำเส้นใยจากกัญชงมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มตามความเชื่อ ที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิต สั่งสมผ่านภูมิปัญญาสืบต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษโดยมีคติความเชื่อในเรื่อง “กัญชง” เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของเทพเจ้า

อีกทั้ง โลกของบรรพบุรุษ ถือเป็นของมงคลชาวม้งจึงลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง มาทำเป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่การผูกข้อมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ หรืองานประเพณีที่สำคัญชาวม้งก็นำมาทอเป็นเสื้อผ้าใส่ในงานมงคลและวันปีใหม่แม้แต่ช่วงสุดท้ายของชีวิตก็นำมาทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรวมถึงรองเท้าให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตล้วนทำจากเส้นใยกัญชงทั้งสิ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าสามารถเดินทางสู่สวรรค์และสื่อสารกับวิญญาณบรรพชนได้หากไม่ได้ใส่เสื้อผ้าที่ทอจากผ้าใยกัญชงแล้ววิญญาณของผู้นั้นจะต้องล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมายดังนั้นกัญชงจึงเป็นพืชดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์ตามประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่ามาเนิ่นนาน

บ้านแม่สาใหม่แห่งนี้ มีการอนุรักษ์ ภูมิปัญญา การสร้างเส้นใยจากัญชงโดยผ่านขั้นตอนทั้ง 15 ขั้นตอน ซึ่งเกิดจากการทำด้วยมือจนได้เส้นใยที่เหนียวทนทานนำมาทอเป็นผืนผ้าเนื้อแน่นและเขียนลายขี้ผึ้งซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดยใช้เวลาผลิตประมาณ 3-4 เดือนต่อผืนจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาสูงเทียบเท่าผ้าไหมซึ่ง ต่อมาได้มีการประยุกต์โดยการนำไปตัดเป็นกระเป๋ารองเท้าหรือหมวกเพื่อสวมใส่และจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจ และยังเป็นการอนุรักษ์ ทั้งวิถีหัตถกรรมวัฒนธรรม จนสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน