วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไฟ์สไตล์ เร่งผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่น ยกระดับผู้ประกอบการสู้เศรษฐกิจโลก

Social Share

8 ธ.ค. 62 : ที่ลานห้องอาหารกาสะลอง โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานเสวนา “Fashion Talk” โดยมี นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประธานการจัดงาน นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก การจัดงานครั้งนี้เพื่้อผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เกิดการปรับตัวสู้เศรษฐกิจโลก หลังจากที่เศรษฐกิจและการค้าของประเทศและต่างประเทศชะลอตัว ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกของไทย

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยประสบกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้า สภาวะที่ธุรกิจถูกทำให้หยุดชะงักในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว หรือ Technology disruption และปัจจัยภายในประเทศโดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลกเองก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภาคการส่งออกของไทย ก็หนีไม่พ้นที่ต้องเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว

กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งรวมถึงสินค้าแฟชั่น ถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกถึงกว่า 12,300 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และที่สำคัญที่สุด ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้กว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ประกอบการ SME ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญในอันที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดทางด้านเงินลงทุนและทรัพยากรต่างๆ ทำให้เสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีกำลังอำนาจทางการตลาด และงบประมาณที่มากกว่า ยากที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจะเป็นคู่แข่ง “หากไม่แน่จริง” ดังนั้น ท่านต้องปรับตัวสู่การตลาดเชิงรุก ทำอย่างไรให้สามารถขายได้ แข่งขันได้ นั่นก็คือการผลิตตามความต้องการของตลาด สร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์ ที่สำคัญ อย่าหยุดที่จะพัฒนาทั้งสินค้าและตัวเอง บางเรื่องที่เราไม่เก่งก็ไปจับคู่กับคนที่เค้าเก่งร่วมกันผลิตเป็นสินค้าที่สวยงามและมีคุณภาพได้ ต้องศึกษาข้อมูลสินค้า ตลาด แนวโน้มความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค ดีไซน์เทรนด์ หรือแม้แต่การหาช่องทางตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ

เพื่อให้สามารถปรับตัวสู่การตลาดเชิงรุก ก้าวทันกระแส “โลกการค้า” ที่เปลี่ยนแปลง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการของไทยสู่ตลาดต่างประเทศ ตระหนักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอ กระเป๋าและเครื่องประดับ ให้มีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น ได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและโครงการพัฒนาศักยภาพที่หลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังไม่เคยส่งออก เริ่มส่งออก ไปจนถึงผู้ส่งออกที่ต้องการขยายตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรฝึกอบรมสัมมนา ข้อมูลด้านสินค้าและตลาด ซึ่งสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ www.ditp.go.th หรือสอบถาม สายด่วนผู้ส่งออก 1169

และสำหรับท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านที่มองหากิจกรรมส่งเสริมตลาดและพัฒนาศักยภาพที่เน้นเฉพาะกลุ่มแฟชั่น เรามีโครงการและหลักสูตรต่างๆ ได้แก่

  1. โครงการ Qurated Fashion Incubation หรือโครงการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการแฟชั่น สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ เรามีหลักสูตรสัมมนาและ workshop แบบเข้มข้น ให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว จากทีมดีไซเนอร์ชื่อดัง และต่อยอดด้วยการนำไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Style ที่กรุงเทพฯ ค่ะ โครงการนี้เราจัดมาแล้ว 6 ครั้ง อย่างครั้งล่าสุด ผู้ประกอบการหลายรายสามารถนำสินค้าเข้าจำหน่ายในห้างดังๆของไทย รวมถึงได้ออร์เดอร์จากต่างประเทศด้วย
  2. โครงการพัฒนา Pattern เป็นการสอนสร้างต้นแบบตัดเย็บแบบสากล
  3. สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่ต้องการทดลองตลาด เรามีโครงการ New faces โดยเราจะมีกิจกรรมสัมมนาเตรียมความพร้อม หรือและนำไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้า
  4. คณะผู้แทนการค้าสินค้าแฟชั่นไปเจรจาการค้าที่ญี่ปุ่น (โตเกียว โอซาก้า)
  5. คณะผู้แทนการค้ากลุ่มสินค้าตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market อย่างสินค้าแม่และเด็ก สินค้าสัตว์เลี้ยง สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ไปเจรจาการค้า อาทิ CLMV จีน ฯลฯ ถือเป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก แต่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง
  6. โครงการพัฒนาสินค้าสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ นำผู้ผลิตสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษ มาจับคู่ธุรกิจกับ กลุ่มนักออกแบบ และผู้ผลิตสินค้ากลุ่มแฟชั่น เพื่อพัฒนาสินค้าเสื้อผ้าฟังค์ชั่นให้ตอบสนองการใช้งานต่างๆ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล ยูนิฟอร์ม นักกีฬา เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมสัมมนา Fashion Talk ในวันนี้ จะเป็นการเสวนาเกี่ยวกับสินค้าแฟชั่น ซึ่งการพัฒนาด้านการออกแบบ ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักในการสร้างเอกลักษณ์ และความแตกต่างอันเป็นจุดขายที่แตกต่าง อุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอ กระเป๋าและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยก็ไม่ใช่แหล่งผลิตจำนวนมากและราคาถูกอีกต่อไป

ในยุคที่โลกถูกทำให้ธุรกิจหยุดชะงักด้วยความก้าวหน้าทางเทคโลโลยี และนวัตกรรม ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ และผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดได้ จะต้องมีจุดเด่น ที่เหมาะกับการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อแฟชั่น การบริโภคแฟชั่นผ่านประสบการณ์ใหม่ หรือแฟชั่นที่คำนึงถึงความยั่งยืน ดิฉันเห็นว่าผู้ประกอบการภาคเหนือ มีข้อได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบธรรมชาติ และทางด้านวัฒนธรรมที่ถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่เหมาะกับการนำมาเป็นจุดแข็งในการแข่งขันในระดับสากล

เรื่องมาใหม่