วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จับมือคณะแพทยศาสตร์ มช. พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้สำเร็จ

26 เม.ย. 2020
1647
Social Share

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จับมือ คณะแพทยศาสตร์ มช. พัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้สำเร็จ พร้อมใช้หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล CMU Aiyara สำหรับการจัดส่ง อาหาร ยา การเก็บเสื้อผ้าที่ใช้แล้วของผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน

26 เม.ย. 63 : ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เยี่ยมชม และรับฟังรายงานการดำเนินการ “โครงการความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อ COVID-19” โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ แจ้งวัตถุประสงค์และความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อ COVID-19 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมคณะเข้าร่วมที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พร้อมกันนี้ คณาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมตัวแทนกลุ่มวิศวกรอาสาพหุภาคี รายงานการออกแบบ การสร้าง การทำงาน และสาธิตหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล (CMU Aiyara ) การทำงานของอุปกรณ์กักกันเชื้อ การทำงานของตู้พ่นยาความดันลบ และการใช้งานเชิงเทคนิคของห้องฉุกเฉินความดันลบ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อ COVID-19″ ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยการผนึกกำลังกันของทั้ง 2 คณะ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ 3 ส่วน ได้แก่ 1.จัดสร้างห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ ( Negative Pressure Room for Emergency Department ) เป็นห้องกักกันเชื้อ และระบายอากาศที่บำบัดสกัดเชื้อก่อนปล่อยออกไป ขนาดประมาณ 100 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วย ห้องผู้ป่วย 4 ห้อง และห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยขั้นรุนแรง ซึ่งจำนวนอาจมากกว่าห้องพักฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมีอยู่

2.หุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล CMU Aiyara สำหรับการจัดส่ง อาหาร ยา การเก็บเสื้อผ้าที่ใช้แล้วของผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาลสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3 – 4 กม./ ชม. ใช้รีโมทควบคุม พร้อมจอมอนิเตอร์ เพื่อสื่อสารโดยเห็นหน้ากันได้ ระหว่างผู้ป่วยกับทีมแพทย์ และพยาบาลผ่านอินเตอร์คอม

3.เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ รหัส 30 (เกียร์ 18)

นอกเหนือจากการผสานความร่วมมือของทั้ง 2 คณะแล้ว ส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ดำเนินการสร้างนวัตกรรมการดูแลสุขภาพประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้คนไทยทุกสามารถผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ได้