วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

(มีคลิป) มช.จับมือบริษัทแอตแลนต้า ทุ่มงบ 200 ล้าน สร้างศูนย์วิจัยกัญชาในเชียงใหม่

Social Share

มช.ลงนามกับบริษัทแอตแลนต้า ทุ่มงบ 200 ล้านสร้างศูนย์วิจัยกัญชาในเชียงใหม่ ให้ได้มาตรฐาน แม้จะลงทุนเยอะแต่มั่นใจว่าราคาจะถูกกว่าต่างประเทศและเทียบเท่ากับราคาใต้ดิน เตรียม 62 โครงการวิจัยนำไปต่อยอดให้ใช้ได้จริง

3 ก.ย. 62 : ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายศุภเดช อำนวยสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอตแลนต้า เมดดิแคร์ จำกัด ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง วิจัย พัฒนา เพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับบริษัท แอตแลนต้า เมดดิแคร์ จำกัด ณ ห้องพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในการลงนามครั้งนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานการวิจัยที่จะบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงของมหาวิทยาลัย มาสร้างสรรค์งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาเพื่อการรักษาโรคที่มุ่งหวังให้เกิดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดถึงการผลิตผลงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากกัญชาที่สามารถใช้งานได้จริง และยังสร้างศูนย์เรียนรู้ ด้วยงบประมาณ 150-200 ล้านบาท ในนามของ CMU Cannabis Valley เพื่อการศึกษา ดูงาน ด้านการปลูก การผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาในระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย โดยมี Co-Working Space ให้กับคณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษา สำหรับการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ

การลงนามในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ เพื่อผลิตสารสกัดกัญชาระดับ Medical Grade เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดกัญชา การวิจัยเพื่อผลิตสารสกัดกัญชาอย่างคุ้มทุน คุ้มค่า มีคุณภาพ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย และสร้างศูนย์เพื่อการวิจัยจาก บริษัท แอตแลนต้า เมดดิแคร์ จำกัด โดยเริ่มวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ คือการปลูก การผลิต การสกัด จนไปถึงปลายน้ำ ที่เป็นการผลิตออกเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการแพทย์ และเวชสำอาง ซึ่งการวิจัยก็ต้องทำตามข้อกฎหมาย ที่ผ่านมาจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการ ทั้งการขออนุญาต การวิจัย โดยมีคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รวมถึงคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดเตรียมที่จะทำการวิจัย และการต่อยอดการวิจัย ที่ออกมาให้ประชาชนได้ใช้

การวิจัยนี้ วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อการแพทย์และเวชสำอาง ซึ่งต้องใช้ได้จริง มีความปลอดภัย แม้ว่าในขณะนี้จะมีการใช้น้ำมันกัญชาจำนวนมาก แต่เป็นลักษณะของการใช้แบบใต้ดิน การที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิแคร์ จำกัด ในวันนี้ จะทำให้เกิดการวิจัยที่ชัดเจน นำใต้ดินขึ้นมาสู่บนดินตามมาตรฐานความปลอดภัย เพราะสารสกัดน้ำมันกัญชาที่ใช้กันใต้ดิน ไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตได้ว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ความบริสุทธิ์ของสารสกัดมากน้อยแค่ไหน และเมื่อวิจัยได้แล้ว ก็เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ ยารักษาโรค และเวชสำอาง จะมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ และราคาจะเทียบเท่ากับราคาที่จำหน่ายใต้ดินในขณะนี้

สำหรับโรคที่จะนำมาใช้ เบื้องต้นก็เป็นโรคที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดออกมาแล้ว 4 โรคหลัก ส่วนเรื่องโรคมะเร็งที่ใช้กัญชามารักษานั้น ผลการศึกษาวิจัยในมนุษย์ยังมีน้อย แม้จะมีผลออกมาในโลกโซเชียล แต่ก็การแชร์ผลที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง ซึ่งการลงนามในวันนี้ก็จะนำผลที่ได้ศึกษานำไปต่อยอดเพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจนในเรื่องโรคมะเร็งนี้ด้วย ขณะนี้มีทั้งหมด 62 โครงการที่เตรียมไว้สำหรับการวิจัยเรื่องกัญชา แม้ว่าข้อจำกัดทางกฎหมายจะมี แต่ทางมหาวิทยาลัยฯ ก็จะทำตามกรอบระเบียบที่กำหนดไว้

 

ด้าน นายศุภเดช อำนวยสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอตแลนต้า เมดดิแคร์ จำกัด กล่าวว่า การลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันนี้ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก เพียงแห่งเดียวที่ทางแอตแลนต้า ได้มาลงนามความร่วมมือ โดยเตรียมพื้นที่ปลูกและวิจัยไว้ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ 10 กว่า งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งการวิจัยนั้น ก็เพื่อให้ทราบตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ มีการปลูก การสกัด การวิจัย ให้ได้ผลที่ชัดเจน

ในเบื้องต้นก็จะมีการคัดเลือกสายพันธุ์ว่า พื้นที่ปลูกดังกล่าวเหมาะสมกับสายพันธุ์ไหน แล้วสารสกัดที่ได้นำไปใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง ก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งในการวิจัย จากนั้นก็จะต่อให้คณะแพทยศาสตร์ และคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดว่า นำไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับใดบ้าง เมื่อนำเข้าสู่ร่างกายแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ควรใช้ระดับปริมาณเท่าไหร่ เพื่อทางการแพทย์และเวชสำอาง ให้เกิดความปลอดภัย

สำหรับระบบโครงสร้างของศูนย์วิจัยฯ ก็จะเป็นพื้นที่ปิด และควบคุมตามระเบียบของกฎหมายทุกอย่าง และการปลูกก็น่าจะเป็นแบบไฮโดรโปนิกส์ ไม่ใช้ดิน เพราะส่วนหนึ่งมาจากกัญชา เป็นพืชที่ดูดซับเอาสารโลหะหนักต่างๆ ในดิน และในประเทศไทย ก็มีการใช้ปุ๋ยเคมีกันมาก ดินบางแห่งอาจไม่เหมาะ แม้ว่าการปลูกเพื่อวิจัยครั้งนี้จะใช้งบประมาณเยอะ แต่ก็คุ้มค่า เพื่อให้เกิดเป็นผลวิจัยที่ชัดเจนและปลอดภัย และใช้ได้จริงในการรักษาโรคและเวชสำอาง แต่เบื้องต้นคงจะมีการนำสายพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาก่อน เพราะว่า ต่างประเทศมีการวิจัยที่ชัดเจนว่า สายพันธุ์ไหนได้ค่าสารสกัดอย่างไร

ดังนั้น การนำเข้ามาจะทำให้การวิจัยต่อยอดได้ผลที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าการมาทดลองซ้ำ และคาดว่าหลังผลการวิจัยเรียบร้อยแล้วทุกกระบวนการ หลังจาก 1 ปีครึ่งไป ก็คงจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 6 เดือน ประชาชนคนไทยที่เป็นผู้ป่วย ก็จะได้ใช้สารสกัดกัญชาเพื่อการแพทย์ที่มีราคาถูก เทียบเท่ากับราคาที่วางจำหน่ายแบบใต้ดินในขณะนี้ แต่ปลอดภัยและได้มาตรฐานมากกว่า

เรื่องมาใหม่