วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและวัฒนธรรม เน้นผลลัพธ์ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน

Social Share

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและวัฒนธรรม เน้นผลลัพธ์ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ผลักดันให้ไทยซึ่งมีหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสานจนเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียน พร้อมผลักดันให้ไปสู่สายตาผู้คนทั่วโลก

17 พฤษภาคม 2562 : ที่ห้องสุโขทัย 3 โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 (21st ASCC Council) โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ในฐานะประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Chair of SOCA) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะผู้แทน และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน จำนวนกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยเป็นการการจัดขึ้นครั้งที่ 21 แล้ว ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2562

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ปี 2562 นับเป็นปีแห่งโอกาสอันดี ที่ประเทศไทยได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียน คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” อีกทั้งได้ประกาศให้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศในปี 2562 เป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย

สำหรับการจัดประชุมอาเซียนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพิจารณาและให้การเห็นชอบต่อแผนงานและเอกสารผลลัพธ์สำคัญภายใต้ ASCC ก่อนจะมีการนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งประกอบด้วยการประชุมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน จำนวน 4 รายการ ดังนี้

  1. การประชุมคณะทำงานเรื่องวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ครั้งที่ 2
  2. การประชุมประสานงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 14
  3. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26
  4. การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 รวมทั้งการศึกษาดูงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายวีระ กล่าวต่อว่า การประชุมอาเซียนในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จด้วยดีตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยสามารถสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้

  1. ด้านการจัดการประชุม มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย คณะผู้แทนระดับรัฐมนตรี คณะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะผู้ติดตามจากประเทศสมาชิกอาเซียน คณะผู้แทนจากหน่วยงานในระดับภูมิภาคและผู้แทนองค์การสหประชาชาติ ผู้แทนหน่วยงานของประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง บุคลากรของกระทรวง พม. และผู้มีเกียรติฝ่ายไทย จำนวนทั้งสิ้น กว่า 500 คน
  2. ด้านผลลัพธ์การประชุม ประเทศไทยประสบผลสำเร็จใน การผลักดันแผนงานหลักประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 (ASCC Priority Areas 2019) และมีกรอบการดำเนินงาน “3/4/14” ดังนี้ “3 แนวทางหลัก” ได้แก่ ความเชื่อมโยงภาคประชาชน และหุ้นส่วนความร่วมมือ ความยั่งยืน การเตรียมความพร้อมและวางแผนด้านความมั่นคงของมนุษย์สำหรับอนาคต โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ ข้อริเริ่ม “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562” ภายใต้แนวคิด “หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสานจนเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียน และนำไปสู่สายตาผู้คนทั่วโลก ด้วยการผนึกกําลังของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมในเวทีนานาชาติ ร่วมส่งเสริมให้เห็นถึงความเข้มแข็ง และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพที่เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง “4 ศูนย์อาเซียน” ที่จะมีการจัดตั้งหรือปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ คลังสิ่งของช่วยเหลือและระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียนในประเทศไทย

ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน และศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม และ “14 เอกสารผลลัพธ์สำคัญ” ประกอบด้วย

1. เอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 (ASEAN Summit) จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

  • 1.1 เอกสารเพื่อการรับรอง จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และ 2.แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2562
  • 1.2 เอกสารเพื่อทราบ จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย  1.กรอบปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล 2.ถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน : การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม และ 3.ถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อการประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 108

นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกสารผลลัพธ์ฉบับที่ 2. เอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 มีจำนวน 9 ฉบับ ได้แก่

  • 2.1 เอกสารเพื่อการรับรอง (For Adoption) จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25, 2.ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบในอาเซียน, 3.ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน, 4.ปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยังยืน และ5.แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยืนยันคำมั่นในความก้าวหน้าการดำเนินงานสิทธิเด็กในอาเซียน
  • 2.2 เอกสารเพื่อทราบ จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.แนวทางและกระบวนการในการตอบสนองต่อความต้องการของเหยื่อการค้ามนุษย์ตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก, 2.เอกสารแสดงเจตนารมณ์ว่าด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเร่งยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล, 3. แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4.แผนปฏิบัติการภูมิภาคว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองร่างแบบสอบถามและขอบเขตอำนาจหน้าที่ (TOR) ของคณะผู้แทนประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในการเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อศึกษาสำรวจความพร้อมเกี่ยวกับการเข้าเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทั้งนี้ การประชุมต่างๆ ในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ นอกเหนือจะเป็นการดำเนินการตามบทบาททางนิตินัยที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียนที่ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนต้องปฏิบัติตามแล้ว ยังเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งในการแสดงบทบาทนำทางพฤตินัยในเวทีอาเซียนของประเทศไทย และผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทนำและเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานสำคัญในด้านต่างๆ ของอาเซียน อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

สำหรับประโยชน์ในภาพรวมในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยและประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จะได้รับประโยชน์โดยตรงทั้งด้านรายได้และการส่งเสริมการท่องเที่ยว จากการที่ผู้นำประเทศ คณะผู้แทน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวนมาก จากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมเดินทางเข้ามาประชุมยังประเทศไทย นอกจากการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนผ่านการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ประเทศไทย ยังจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ

ด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านราชการพลเรือน ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา อันเป็นผลจากการนำเอกสารผลลัพธ์สำคัญ ซึ่งผู้นำอาเซียนให้การรับรองและรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียนไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้การสนับสนุนผู้นำเยาวชนอาเซียนที่พบปะผู้นำในคราวที่ประเทศไทยจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมิถุนายน 2562 ที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสและเวทีให้ผู้นำเยาวชนได้มีปฏิสัมพันธ์ และเสนอข้อคิดเห็นต่อผู้นำของประเทศอาเซียนอีกด้วย