วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำรวจเยาวชนอยากได้ฉลากคำเตือนข้างขวดเหล้าแบบไหน

Social Share

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำรวจเยาวชนอยากได้ฉลากคำเตือนข้างขวดเหล้าแบบไหน

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุมีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร เป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้เกิดมากกว่า 60 โรค มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 2.5 ล้านคน คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก เหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึงร้อยละ 90 โดยมีผู้เสียชีวิต 26,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

 

นับเป็นข้อมูลที่น่าตกใจว่า ภัยของสุรา ไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาเหมือนที่หลายคนดื่มเป็นปกติเพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา โดยผลจากพิษภัยน้ำเมาชี้ให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่จะตามมาหลากหลาย อาทิ ปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุจราจร และปัญหาครอบครัว โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยคุณกนิษฐา ไทยกล้า นักวิจัย ได้ตระหนัก และมองว่าในขณะที่ประเทศไทยได้มีการผลักดันให้สุราเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม จึงควรมีมาตรการเกี่ยวกับภาพและคำเตือนบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล

 

โดยทำการสำรวจความคิดเห็นจากเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี ทั่วประเทศทางอินเตอร์เน็ต ร่วมกับการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้คำตอบว่า เยาวชน ต้องการให้มีป้ายคำเตือนขนาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ “เยาวชนต้องการให้ฉลากที่มีทั้งรูปภาพและข้อความที่ชัดเจน” นอกจากนี้แล้วเยาวชนยังได้เสนอแนะให้มีรูปภาพที่เป็นภาพอุบัติเหตุจริง ประกอบกับข้อความคำเตือน ดังนี้ 1.เป็นเหตุให้พิการและตายได้ , 2.การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง

3.บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ไม่ควรดื่ม และ 4.ห้ามจำหน่ายแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าว จะได้นำเข้าเป็นข้อมูลเชิงนโยบายสำหรับการวางแผนในการกำหนดมาตรการคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป

ข้อมูลภาพ-ข่าว : จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ