วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

(มีคลิป) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนงานภายใต้ “ไทยนิยม ยั่งยืน” พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่

Social Share

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทานเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่แปลงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

ช่วงบ่ายวันที่ (28 พฤษภาคม 2561) ที่บริเวณแกล้มลิงหนองบ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการเริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยมี นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ และ นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ นายอำเภอสะเมิง นำพร้อมด้วยข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารท้องถิ่น เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รี่ และราษฎรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมและให้การต้อนรับ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มติ ครม.เมื่อ 16 มกราคม 2561 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 20 ปี (2560-2579) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบหลักในการดำเนินงาน 10 เรื่อง ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนโครงการ

โดยในส่วนของกรมชลประทาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ้างแรงงานสร้างรายได้ การส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ การพัฒนาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทานเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีการ KICKOFF พร้อมๆ กันทุกโครงการ ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 สำหรับโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการจัดหาน้ำให้กับพื้นที่ปลูกสตรอเบอร์รี่แหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในเขตตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง มีด้วยกัน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการแก้มลิงหนองบ่อแก้ว พร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ โดยการขุดลอกสระเพื่อเพิ่มขนาดความจุในการเก็บกักน้ำ จำนวน 2 สระ

“การขุดลอกสระเก็บน้ำแห่งที่ 1 ความจุ 95,000 ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้สระเก็บน้ำเดิมมีความจุเพิ่มขึ้นอีก 27,870 ลบ.ม. ส่วนการขุดลอกสระเก็บน้ำแห่งที่ 2 ความจุ 120,000 ลบ.ม. จะช่วยเพิ่มขนาดความจุจากเดิมอีก 55,790 ลบ.ม. พร้อมกับการก่อสร้างคลองดาดคอนกรีตทดแทนคลองดินที่มีแต่เดิม ความยาว 1,636 เมตร” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

นายเลิศวิโรจน์ฯ กล่าวต่อว่า อีกโครงการจะเป็นการปรับปรุงอาคารท่อระบายปากคลองส่งน้ำ (ทรบ.) พร้อมอาคารประกอบลำเหมืองห้วยน้ำใส เป็นการปรับปรุงทำนบดินหนองสมบูรณ์ โดยก่อสร้างทำนบดินใหม่ สูง 3 เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ ความจุ 480,000 ลบ.ม. โครงการนี้จะทำให้ความจุหนองสมบูรณ์เพิ่มขึ้น 30,000 ลบ.ม. พร้อมก่อสร้างอาคารอัดน้ำในลำห้วยน้ำใส จำนวน 7 แห่ง และขุดลอกลำห้วยน้ำใส ยาว 2,500 เมตร

“เมื่อดำเนินการโครงการแล้วเสร็จ พื้นที่แก้มลิงที่ได้รับการปรับปรุงจะมีความจุเพิ่มขึ้น 86,660 ลบ.ม.สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่บ้านหมู่ที่ 1, 4, 5 และหมู่ที่ 10 ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประมาณ 1,300 ไร่ รวมถึงสามารถส่งน้ำสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮได้เป็นอย่างดี คาดจะสร้างรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้ อันเป็นเป้าประสงค์ของโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในการจะให้ประชาชน ชุมชน อยู่ดีมีสุข” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

นอกจากการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำชลประทานเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งแล้ว ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการไทยนิยมยั่งยืน อีกว่า ในส่วนรับผิดชอบของกรมชลประทานในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังมีการดำเนินการเกี่ยวกับเมนูการจ้างแรงงานชลประทาน บำรุงรักษาอาคารชลประทาน สร้างรายได้แก่เกษตรกร อีก 4 โครงการ งบประมาณ 4.4 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงาน ผู้ขึ้นทะเบียน ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำได้กว่า 177 คน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกรอบการขับเคลื่อนคนไทยไม่ทิ้งกัน

“อีก 1 เมนูที่ดำเนินการ เป็นการใช้ยางพาราในงานซ่อมแซมถนนชลประทาน ถนนบนสันเขื่อน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสัญจรในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จำนวน 17 โครงการ ครอบคลุม 10 อำเภอ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการใช้น้ำยางพารามากกว่า 55 ตัน เมื่อถนนยางพาราที่ได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จ จะมีราษฎรได้รับประโยชน์ กว่า8,449 ครัวเรือน” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

“ท้ายที่สุดนี้อยากจะฝากย้ำว่า การดำเนินงานตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน จะเน้นเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งการดำเนินงานจะมีหน่วยภายนอก รวมถึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการเหล่านี้จะสร้างประโยชน์สุขให้กับการพัฒนาประเทศ เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม” นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในที่สุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เชียงใหม่ สนับสนุนชาวสวนหอมหัวใหญ่ ทดลองไวรัส NPV กำจัดหนอนกระทู้หอม ทดแทนสารเคมี (มีคลิป)
เกษตรเชียงใหม่ ชวน “ชม ชิม ช็อป สตรอว์เบอร์รี่สะเมิง” พร้อมเตรียมเปิดเทศกาลสตรอว์เบอร์รี่ 6 – 8 ก.พ. นี้ (มีคลิป)
ดีแทคจับมือพันธมิตรรุกภาคเกษตร เปิดตัวบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ช่วยเกษตรกรเพาะปลูกอย่างแม่นยำ
ครอบครัวหัวใจเกษตร Smart Farmer ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
(มีคลิป) นศ.ม.แม่โจ้ทิ้งปริญญาตรี หันมาร่วมกลุ่ม Young Smart Farmer ขายผ่านออนไลน์จนธุรกิจปัง สินค้าไม่พอส่งขาย
(มีคลิป) เชียงใหม่ เปิดงานเกษตรอินทรีย์ วิถีล้านนา อย่างยิ่งใหญ่ เอาใจคนรักพืชผักเกษตรอินทรีย์