วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

รพ.มหาราช เปิดแถลงสาเหตุสารเคมีรั่ว ในห้องไตเทียม

Social Share

19 ก.ย. 62 : ที่ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.นพ.วิชัย ชื่นจงกลกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าว ร่วมกับ ศ.นพ.คม สุคนธสรรพ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และ อ.นพ.ดิเรก บรรณจักร หัวหน้าหน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว ถึงสาเหตุสารเคมีรั่วไหล เหตุเกิดช่วงค่ำวันที่ 18 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

สารเคมีที่รั่วไหล มีชื่อ Sanacide-R8 องค์ประกอบคือ Paracetic acid 4.5% , Hydrogen peroxide 27% และ Acetic acid 8% ซึ่งสารดังกล่าว มีองค์ประกอบของสารลักษณะเดียวกับน้ำส้มสายชู และสารที่ใช้ในการทำความสะอาดบาดแผลทั่วไป แต่มีความเข้มข้นสูงกว่า ประโยชน์ใช้งานเพื่อทำความสะอาด เครื่องกรอง และตัวกรอง ของเครื่องฟอกไต บรรจุเป็นแกลลอน เก็บไว้จำนวนพอใช้งาน ในห้องไตเทียม ขณะบรรจุภาชนะ เพื่อทำให้เจือจาง ข้อต่อสายมีการหลุด จึงเกิดการรั่วของสารเคมีดังกล่าว

การบริหารจัดการพื้นที่ ที่รั่วไหล เมื่อตรวจพบการรั่วไหลของสารดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องซึ่งทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่าในห้องไตเทียมมีสารนี้ ที่เป็นสารเคมีสำคัญ และออกฤทธิ์สามารถระเหย และมีกลิ่นที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ได้ปฏิบัติการเบื้องต้นคือ ใส่ชุดป้องกันพื้นฐาน และตัดไฟเครื่องที่ทำงานภายในห้องไตเทียม และปิดกั้นพื้นที่ เพื่อให้การระเหยไม่กระจายในวงกว้าง จากนั้นได้รายงานผู้บริหารทันที

เมื่อผู้บริหารรับทราบ ได้เข้าพื้นที่ และประสานงานตามแนวทางการจัดการสารเคมี โดยการปิดกั้นพื้นที่ ให้การระเหยของสารนี้ อยู่ในวงจำกัด ในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการระเหยของสารนี้เข้าไป ได้อพยพ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และหยุดบริการในพื้นที่ดังกล่าว

แต่การเข้าพื้นที่ที่มีสารที่ระเหย ซึ่งทางโรงพยาบาลยังไม่ทราบความเข้มข้นของสารที่ระเหย จึงได้ประสานงานขอความช่วยเหลือไปยัง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ (ฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ) เพื่อเข้าพื้นที่และดำเนินการเก็บกู้สารเคมีดังกล่าว ทีมเผชิญเหตุจาก ปภ. เชียงใหม่ ร่วมกับทีมจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้เข้าพื้นที่พร้อมชุดป้องกัน ระดับ B ทำการเก็บกู้สารเคมี บรรจุในถุง ปิดผนึก แล้วบรรจุลงถังให้มิดชิด นำไปเก็บไว้ในพื้นที่เก็บสารเคมีของโรงพยาบาล และเข้าสู่ระบบการทำลายขยะสารเคมีของโรงพยาบาลต่อไป

การดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารที่รั่วไหลนั้น ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารที่ระเหย และผู้ที่สัมผัส ได้ถูกส่งตัวไปที่ห้องฉุกเฉิน และห้องฉุกเฉินได้ เปิดแผนอุบัติภัยสารเคมีระดับที่ 1 ตามที่ทางโรงพยาบาลมหาราช ได้ซ้อมมาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ โดยได้เปิดห้องล้างตัวของโรงพยาบาล ทำการล้างตัวของที่สัมผัส และรู้สึกระคายเคือง จากนั้นได้ให้การตรวจประเมินและรักษา มีผู้ที่มีอาการระคายเคือง แสบตามาที่ห้องฉุกเฉินและได้รับการล้างสารปนเปื้อนตามแนวทางของโรงพยาบาล

ผู้ที่เข้ามารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน มีจำนวน 27 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของคณะแพทยศาสตร์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นพยาบาล แพทย์ และช่างเทคนิค มีอาการ ระคายเคืองที่ตา จมูก ได้รับการล้างทำความสะอาด ตรวจสอบเยื่อบุตา และพบว่า ไม่มีอาการใดๆ รุนแรง และสามารถให้กลับบ้านได้ทั้งหมด