วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

รัฐมนตรีฯ เกษตร วางงบ 500 กว่าล้าน สร้างอ่างเก็บน้ำแม่วางเชียงใหม่ แก้ปัญหาภัยแล้ง

Social Share

25 ส.ค. 62 : ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่อำเภอแม่วาง เพื่อติดตามและตรวจความพร้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง บรรยายสรุปโครงการฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทานจาก สำนักชลประทานที่ 1 ก่อนที่จะพบปะและแจงนโยบายสำคัญให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำแม่วาง ราษฎรในเขต สปก. และเดินทางไปตรวจความพร้อม ในพื้นที่จุดที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ณ หอประชุมอำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ในขณะนี้การศึกษาได้จบไปแล้ว และวางกรอบงบประมาณในการก่อสร้างให้เร็วที่สุด โดยวางกรอบไว้ประมาณ 500 กว่าล้านในการก่อสร้าง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำตรงนี้เป็นอ่างขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ของกรมอุทยานฯ ประมาณ 2,000 กว่าไร่ หลังจากนี้ก็ต้องขออนุญาตกรมอุทยานฯ ในการขอใช้พื้นที่ โดยกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างในปี 62 การศึกษาจบไปแล้ว ในปี 63 จะเป็นในเรื่องของระบบราชการที่เป็นเรื่องการศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษา

ด้านภัยแล้งปีนี้ คล้ายกับปี 58 ได้แก้ไข 2 แนวทาง คือระยะสั้น ได้ทำเรื่องฝนหลวง การเจาะน้ำบาดาล และการเยียวยาพี่น้องเกษตรกร ส่วนการแก้ในระยะยาว ก็ได้บูรณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ขณะนี้ทุกหน่วยพร้อมให้ความช่วยเหลือ เพราะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนโดยตรง บางโครงการที่เป็นเขตลุ่มนี้ C และ D แต่ถ้าเป็นลุ่มน้ำ A ก็ต้องศึกษาให้ละเอียด เพราะมีผลกระทบต่อป่าไม้

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เดือน เม.ย. 2562 ได้เดินทางมาที่อำเภอแม่วางแล้วหนึ่งครั้ง ตอนนั้นเจอปัญหาเป็นช่วงที่น้ำมีน้อยมาก และฝายห้วยผึ้งชำรุด ซึ่งได้แจ้งให้ท่านอธิบดีกรมชลประทาน ทราบและได้แจ้งให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบตามลำดับ ต่อมาทางกรมชลประทาน ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการนำงบประมาณมาซ่อมแซม และคาดว่าเดือน ก.ย. 62 ที่จะถึงนี้ฝายห้วยผึ้งก็จะซ่อมแซมเสร็จ

ในวันเดียวกันนั้นทางอำเภอแม่วาง และหน่วยงานในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือ เสนอการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วางขึ้นมา และถือว่าตอบโจทย์ของกรมชลประทานอยู่แล้ว เพราะมีการนำศาสตร์พระราชามาใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ และกลางน้ำ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจ ตรวจสอบ และออกแบบ โดยพบว่าน้ำแม่วางมีน้ำไหลมากถึง 90 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำที่จะเก็บน้ำได้ มีเพียงฝายลุ่มน้ำ 11 ฝายเท่านั้น หากสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วางขึ้น จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้ในระยะยาว เมื่อมีฝนตกก็จะเก็บกักน้ำได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร พอถึงช่วงแล้ง ก็ปล่อยน้ำลงสู่ฝาย 11 ฝายที่ลุ่มน้ำ แล้วส่งไปยังลำน้ำต่างๆ ก็จะครบถ้วนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

วันนี้ถือว่าเป็นการเดินทางมาครั้งที่สอง มาทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพราะพื้นที่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ใช้พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ตอนนี้การศึกษาด้านความเหมาะสม การสำรวจ และออกแบบนั้นเรียบร้อยไปแล้ว แต่ตามกฎระเบียบแล้ว พื้นที่มากกว่า 500 ไร่ จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และแบบที่เคยทำไว้เมื่อปี 2555 ปัจจุบันภาพพื้นที่เปลี่ยนไปต้องมีการปรับอีก คาดว่าการปรับและการศึกษาผลกระทบจะแล้วเสร็จปี 63 และจะดำเนินการก่อสร้างให้เร็วที่สุด ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน ตั้งแต่ประชาชน หน่วยงานในพื้นที่ทั้งหมด ต้องเข้าใจตรงกันในการแก้ปัญหา เมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วยโครงการก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว