วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ตะลอนทัวร์ท่องเที่ยว “ดอยงาม ชิมชาพันปี คั่วบดเมล็ดกาแฟแบบทำมือ” โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น

Social Share

ตะลอนทัวร์ท่องเที่ยว “ดอยงาม ชิมชาดีพันปี คั่วบดเมล็ดกาแฟแบบทำมือ” โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น แม่สรวย เชียงราย ต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ชุมชน

วันนี้แอดมินจะพาท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ชิมชา กาแฟ ดูวิถีชีวิต คนอยู่กับป่า กับชุมชนต้นแบบ ของโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย จากการเดินทางมุ่งหน้าจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง เข้าสู่ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด เพื่อไปยังบ้านดอยงาม จุดหมายแรก โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น

เส้นทางที่ผ่านมาในการเดินทางจะพบกับที่ราบเชิงเขา ป่าไม้ หุบเขา และนาขั้นบันได ไปยังเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาวและอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 3 ชุมชนเผ่าอาข่าอันเงียบสงบ ได้แก่ บ้านป่าเกี๊ยะ บ้านดอยงาม และบ้านแม่จันใต้ ที่ดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิม พร้อมกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่พัฒนาโดยคนรุ่นหลังจนได้มาตรฐานระดับนานาชาติ แล้วการก่อร่างเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนก็ได้เกิดขึ้น โดยแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

บ้านดอยงามแห่งนี้ อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง มีความผูกพันกับธรรมชาติ มีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย และชุมชนบ้านดอยงามยังมีวัฒนธรรมการดื่มชาที่โดดเด่น โดยชุมชนบ้านดอยงามจะเก็บใบชาจากต้นชาที่พบตามป่าธรรมชาติแล้วนำมาคั่ว นวด ตากให้แห้งแล้วนำมาต้มดื่มในระหว่างรับประทานอาหาร และสถานที่แห่งนี้ ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีฐานให้ความรู้ เรื่องชาดอยงาม เรียนรู้กระบวนการเก็บและคั่วชา ดูงานแปลงการเกษตรในพื้นที่สวนไม้ผล

ในแต่ละจุดของแหล่งเรียนรู้ ทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งว่า การจะเก็บใบชา ไม่ใช่ว่าจะเก็บแบบไหนก็ได้ แต่ต้องดูทั้งเรื่องเวลาในการเก็บ ดูความสมบูรณ์ของใบชา และเมื่อเก็บมาแล้วก็ต้องนำมาคัด ทำความสะอาด แล้วนำไปผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งการการนวด การตาก จนในที่สุดก็ได้ใบชาที่มีกลิ่นหอม มีคุณภาพออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ชิม ภายใต้บรรยากาศธรรมชาติของขุนเขาที่สวยงาม ยิ่งทำให้เพลิดเพลินไปกับการชิมชาและการพักผ่อนเป็นอย่างมาก ซึ่งทางวิสาหกิจชุมชนบ้านดอยงาม ใช้ต้นชาอัสสัมสายพันธุ์ธรรมชาติเก่าแก่อายุกว่าพันปีในการผลิตแบบดั้งเดิม ที่ชาวจีนและญี่ปุ่นยอมรับให้ที่นี่เป็นแหล่งผลิตชาชั้นยอด

ช่วงกลางวันเมื่อหิวแล้ว ก็ยังมีอาหารแบบพื้นบ้านไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย เรียกได้ว่า ใครมาแล้วไม่ควรพลาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ต้องการธรรมชาติ และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แนะนำให้มาเที่ยวชมที่หมู่บ้านดอยงาม แห่งนี้ แล้วท่านจะไม่ผิดหวัง คนที่นี่อัธยาศรัยดี น่ารักและเป็นกันเอง คอยดูแลนักท่องเที่ยวและให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการชิมชาที่ถูกต้อง การเก็บรักษาใบชาที่ถูกต้องด้วย

แต่ไฮไลท์ยังไม่หมด เพราะหากตื่นนอนมาตอนเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ท่านจะได้ชมวิวที่สวยงามของหมอกหน้าฝน และอากาศที่เย็นสบาย เมื่อพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมา ก็จะทำให้ภาพสวยงามมากยิ่งขึ้น มองเห็นไร่ชาและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ตื่นนอนและไปเก็บใบชาตั้งแต่ช่วงเช้า และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมเรียนรู้และไปเก็บใบชาพร้อมกับชาวบ้านได้

นายธีรพล เมอแล ผู้ใหญ่บ้านดอยงาม เปิดเผยว่า ชุมชนของเราเล็งเห็นว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ต้องรณรงค์กับหน่วยงานภายนอกและประชาชน ให้เห็นความแตกต่างของการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวทั่วไป กระตุ้นให้เห็นความสำคัญและเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้มาเยือน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทของชุมชนท้องถิ่นต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นกำลังใจหรือสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานอนุรักษ์ทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม

บ้านดอยงามมีต้นชาเป็นจุดเด่น คือ ชาป่า มีมาตั้งแต่ก่อนที่หมู่บ้านจะก่อตั้งหมู่บ้าน ถือว่าเป็นชาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เป็นชาที่ได้รับความนิยมในประเทศจีนมาก จากลูกค้าได้นำชาบ้านดอยงามไปเข้าประกวดที่เวทีชา ประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนี้มีแต่ละประเทศร่วม ส่งชาเข้าประกวด 127 ประเทศ ผลการประกวดออกมาได้อันดับที่ 2 ของโลก เป็นรางวัลกำลังใจแรงผลักดัน ให้ชุมชนบ้านดอยงาม ได้ตระหนักดูแลชาที่จะอยู่ร่วมกับป่า และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ สถาบันได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น สนับสนุนและให้ความรู้ในการรวมกลุ่มโฮมสเตย์ขึ้นในชุมชนบ้านดอยงาม ทำให้มีผู้คนให้ความสนใจเดินทางมาศึกษาดูงานและเรียนการผลิตชาของชุมชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

สิ่งสำคัญและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหมู่บ้านแห่งนี้ นอกจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวบ้านแล้ว ต้องขอบคุณสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ที่ดำเนินงานสนับสนุนงานโครงการหลวงและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงของประเทศไทย โดยมีการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาต่อยอด โดยนำองค์ความรู้ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสถาบันได้พัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูงเพื่อพัฒนาต่อยอดชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาไปสู่ชุมชนต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรม องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการเกษตร สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เรื่องมาใหม่