วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ฝนตกหนักอย่างรุนแรงในเชียงใหม่ ทำให้เจดีย์อายุ 727 ปีวัดล่ามช้าง แตกร้าว เป็นหลุมขนาดใหญ่

Social Share

4 ต.ค. 2562 : เหตุการณ์จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนหลายสายในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็มีต้นไม้ล้มกีดขวางเส้นทางการจราจร ต้นไม้ล้มใส่รถยนต์ และพายุฝนที่รุนแรงดังกล่าว ยังส่งผลกระทบมาถึงเจดีย์วัดล่ามช้าง ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่มีอายุกว่า 700 ปี เกิดการร้าวและหลุดร่วงลงมา ทำให้เกิดรอยขนาดใหญ่

พระครูปลัดอานนท์ วิสุทโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้าง เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันนี้ฝนตกลงมาอย่างหนัก ในช่วงเย็นวันนี้ ส่งผลให้เจดีย์โบราณที่ตั้งอยู่ภายในวัด อายุกว่า 727 ปี ถูกพายุฝนที่รุนแรงซัดกระหน่ำ จนปูนขององค์เจดีย์แตกร้าวและหลุดร่วงลงมา ทำให้เกิดเป็นรอยขนาดใหญ่ ตอนนี้ทางวัดได้รีบปิดบริเวณโดยรอบ ไม่ให้ใครเข้าไป เพื่อป้องกันอันตราย และเตรียมแจ้งกรมศิลปากรที่ 7 เข้ามาตรวจสอบ

จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและมีพายุรุนแรง ทำให้องค์เจดีย์โบราณ อายุกว่า 727 ปี ถูกพายุฝนทำให้เกิดร้าวและหลุดลงมาเป็นรอยขนาดใหญ่ จึงได้รีบทำการปิดส่วนบริเวณรอบองค์เจดีย์ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้ และเตรียมแจ้งทางเจ้าหน้าที่ศิลปากร เข้ามาตรวจสอบ เพื่อทำการบูรณะรอบองค์

ตามประวัติของวัดกล่าวไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 1835 – 1839 พญามังรายมหาราชกษัตริย์แคว้นล้านนา ได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ ทรงประทับอยู่ ณ เวียงเล็ก หรือเวียงเชียงมั่น (วัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) เพื่อเตรียมอุปกรณ์การสร้างเมือง พญามังรายได้ทรงเชิญพญาร่วม หรือขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แคว้นสุโขทัย และพญางำเมือง กษัตริย์แคว้นพะเยา หรือภูกามยาม มาร่วมปรึกษาสร้างเมืองด้วย สร้างเสร็จแล้วได้ขนานนามเมืองว่า “นพบุรีศรีนครพิงศ์เชียงใหม่” ด้านทิศตะวันออกของเวียงเล็ก เป็นป่าไม่มีหนองน้ำใหญ่ ช้างราชพาหนะของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ และข้าราชบริภาร คนเลี้ยง และล่ามไว้บริเวณนี้ เรียกว่า “เวียงเชียงช้าง” ต่อมาได้สร้างวัดขึ้นที่เวียงเชียงช้าง ณ ที่เลี้ยง และล่ามช้างเพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถาน ขนานนามว่า “วัดล่ามช้าง” และปั้นรูปช้างถูกล่ามเลี้ยงไว้เป็นสัญลักษณ์

สำหรับเจดีย์โบราณของวัดล่ามช้าง มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมย่อเก็จ ที่ฐานมีรูปปั้นช้างประดับอยู่ทั้งสี่ทิศ บริเวณฐานทรงกลมรองรับองค์ระฆังมีปูนปั้นเทพพนมประดับอยู่อย่างสวยงาม ถัดไปเป็นองค์ระฆังประดับด้วยกระจกสีสวยงามจนถึงส่วนปลียอด ฐานประดับด้วยลวดลายกลีบบัว ยอดเจดีย์ยกฉัตรสีทอง

นอกจากนี้ที่วัดแห่งนี้ ยังคงประดิษฐานพระพุทธรูปดอกไม้ องค์แรกของภาคเหนือ ซึ่งทำมาจากมวลสารดอกไม้และทำเป็นพระพุทธรูปขึ้นมา มีลักษณะรูปทรงไม่เหมือนใคร หากอยู่ใกล้จะได้กลิ่นหอม มีหน้าตักกว้าง 39 นิ้ว สูง 80 ซม. ปัจจุบันนักท่องเที่ยวได้เดินทางมากราบไหว้ และเข้าชมโบราณสถานต่างๆ ในวัดเป็นจำนวนมาก

เรื่องมาใหม่